นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยภายหลังในพิธีเทพื้นคอนกรีตจุดเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำกก โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเชียงราย โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ในวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมาว่า จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวลำดับต้นๆของประเทศไทย รวมทั้งเป็นเมืองที่มีความสำคัญในการขนส่งสินค้าของประเทศ มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ ประเทศสหภาพพม่า และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสามารถเชื่อมโยงการคมนาคมกับจีนตอนใต้ และมีการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปอย่างรวดเร็วทำให้ปัจจุบันปริมาณการจราจรในจังหวัดเชียงรายมีความหนาแน่นมากขึ้นดังนั้นเพื่อเป็นรองรับการเจริญทางเศษฐกิจ การค้า การลงทุน การสนับสนุนการท่องเที่ยว และการรองรับปัญหาจราจร กรมทางหลวงจึงเพิ่มเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง ดังนั้น จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเชียงราย ขึ้น เพื่อพัฒนาระบบทางหลวง รองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น เชื่อมโยงการเดินทางจากเชียงใหม่ เข้าสู่เชียงราย และสนับสนุนการขนส่งแบบต่อเนื่องไปสู่เส้นทาง R3 เชื่อมโยงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวต่อไปอีกว่า โครงการก่อสร้างทางสายเลี่ยงเมืองเชียงราย มีระยะทาง 21.039 กิโลเมตร โดยเป็นการก่อสร้างเส้นทางใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ) ขนาดช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร มีงานก่อสร้างสะพาน 4 แห่ง และจุดกลับรถ 8 แห่ง ปัจจุบันมีความคืบหน้า 91 % และเพื่อช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้าง ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างน้อยลงและถนนสามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว กรมทางหลวงจึงได้แบ่งโครงการก่อสร้างออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 เริ่มต้นที่ กม.0 – กม.9+025 ระยะทาง 9.025 กิโลเมตร
ส่วนที่ 2 กม.9+025– กม.18+411 และบนทล.1418 กม.0+000 – กม.2+628. รวมระยะทาง 12.014 กิโลเมตร ใช้เงินงบประมาณก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนตัวของการจราจรบนโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินสายหลัก ตามพันธ์กิจด้านการพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน (เส้นทางไทย – จีนตอนใต้: R3) รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านต่างๆของประเทศและแก้ปัญหาการติดขัดของการจราจรบนทางหลวงสายหลักของประเทศ และเตรียมรองรับการก่อรสร้างทางหลวงสายเชียงใหม่ – เชียงราย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าของภาคเหนือผ่านจังหวัดเชียงรายไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านเส้นทาง R3 ตลอดจนช่วยให้เกิดการกระจายตัวของการจราจรบนโครงข่ายทางหลวงสายหลักที่ต้องผ่านตัวเมืองเชียงรายเป็นการลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตตัวเมืองเชียงราย