กรมปศุสัตว์ชู 9 มาตรการเข้มกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าปี 62 หยุดการระบาดของโรคในทุกพื้นที่เร่งรัดฉีดวัคซีนสุนัข-แมวรอบจุดเกิดโรค 100% X-Ray พื้นที่ เฝ้าระวังเชิงรุกพื้นที่จุดเกิดโรคอย่างน้อย 6 เดือน พบสัตว์สงสัย ป่วย ตาย ส่งตรวจทุกตัวทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง เร่งรัดทำหมันควบคุมประชากรสุนัขแมวที่ไม่มีเจ้าของหรือด้อยโอกาส หยุดเพิ่มจำนวน-หยุดเพิ่มความเสี่ยง เร่งรัดประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนัก-ขจัดความไม่รู้ความเข้าใจผิดของประชาชนชน ปลูกจิตสำนึก “เลี้ยง ต้องรับผิดชอบ” จับมือกับท้องถิ่น สาธารณสุข รณรงค์ฉีดวัคซีนพร้อมกันทั้งประเทศสร้างภูมิคุ้มกันระดับฝูง 4 เดือน (มีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน)เป้าหมายอย่างน้อย 80%ของยอดสุนัข-แมว จับมือกับท้องถิ่น สาธารณสุข ฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพด้านความรู้และทักษะที่ถูกต้องให้กับอาสาสมัครผู้ฉีดวัคซีน เพิ่มคุณภาพการนำวัคซีนเข้าสู่ตัวสัตว์ พัฒนาวัคซีน ตามมาตรฐานสากล ศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงป้องกันปัญหาวัคซีนขาดแคลน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กรมปศุสัตว์ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนงานด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าเชิงคุณภาพและมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายจะต้องไม่พบโรคในสัตว์โดยถือเอาชีวิตมนุษย์เป็นที่ตั้ง จึงได้กำหนดให้ทุกพื้นที่เร่งรัดงานในทุกด้าน โดยในช่วง ไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ บูรณาการกับทางท้องถิ่นและสาธารณสุขพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพอาสาสมัครเพื่อทำหน้าที่สำคัญในการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการเกิดภูมิคุ้มกันในตัวสัตว์ โดยอาสาสมัครเหล่านี้ จะต้องผ่านการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ จะต้องได้รับใบประกาศผู้ผ่านการฝึกอบรม และที่สำคัญจะต้องได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 อาสาสมัครทั้งหมดนี้จะทำหน้าที่ฉีดวัคซีนในช่วงรณรงค์ 4 เดือน ตั้งแต่ เดือนมีนาคม – พฤษภาคม พร้อมกันทั่วประเทศ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำหน้าที่สำรวจและขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว รวมทั้งจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดโดยให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรสัตว์ที่สำรวจได้ และความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนจะต้อง ไม่น้อยกว่า 80% ของยอดสัตว์ ซึ่งการฉีดวัคซีนทั้งหมดเป็นการให้บริการจากภาครัฐโดยไม่คิดมูลค่า ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ตระหนักถึงความมั่นคงของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ในประเทศไทยทั้งด้านปริมาณและคุณภาพจึงได้มีการพัฒนาคุณลักษะเฉพาะของวัคซีนให้ตรงตามมาตรฐานสากลและอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศเพื่อป้องกันปัญหาวัคซีนขาดแลน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์กำหนดให้เดือนกรกฎาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งมหามงคล จะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 และศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยจะเน้นกิจกรรมฉีดวัคซีน ผ่าตัดทำหมัน รักษาพยาบาลสัตว์ โดยไม่คิดมูลค่า และให้ความรู้แก่ประชาชนตลอดทั้งเดือน
ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งปี จะเป็นการเร่งรัดควบคุมโรคในพื้นที่เกิดโรค โดยปัจจุบัน (ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2561) พบจุดเกิดโรคที่ยังคงประกาศเป็นเขตโรคระบาดสัตว์เพียง 26 จุด ในพื้นที่ 18 จังหวัด พื้นที่จุดเกิดโรคเหล่านี้ กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้มีการเร่งรัดฉีดวัคซีนสุนัข-แมวรอบจุดเกิดโรค 100% ทำการ X-Ray พื้นที่เฝ้าระวังเชิงรุกพื้นที่จุดเกิดโรคต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หากพบสัตว์แสดงอาการสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรือพบว่าป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุจะต้องเก็บตัวอย่างส่งตรวจทุกตัว ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ กิจกรรมที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ประกอบด้วยการเร่งรัดทำหมันควบคุมประชากรสุนัขแมวที่ไม่มีเจ้าของหรือด้อยโอกาส เพื่อหยุดเพิ่มจำนวนซึ่งจะช่วยหยุดเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่โรคพิษสุนัขบ้า อีกทั้งการเร่งรัดประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนัก ขจัดความไม่รู้ความเข้าใจผิดของประชาชนชน และปลูกจิตสำนึก “เลี้ยงต้องรับผิดชอบ” ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวดไปแล้ว
สุดท้ายนี้กรมปศุสัตว์ ขอให้ประชาชนประสานขอรับบริการตามกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้าน อีกทั้งขอความร่วมมือประชาชนผู้เลี้ยงสัตว์ให้เฝ้าระวัง หากพบสุนัข แมวตายหรือมีอาการสงสัยป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนผู้เลี้ยงสัตว์ได้ทันท่วงที รวมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ หากท่านให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ในการป้องกันและควบคุมการเกิดโรคอย่างเคร่งครัด สัตว์ของท่านก็จะปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้า อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด
******************************************************
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ