กรมการจัดหางาน แจงสถานการณ์การว่างงานไม่น่าห่วง เพราะมีอัตราลดลงทั้งจากเดือนที่แล้ว และช่วงเดียวกันของปีก่อน ระบุอายุ 20-24 ปี เป็นช่วงที่มีผู้ว่างงานมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษา และเป็นการลาออกจากงานมากที่สุด พร้อมย้ำ ภาครัฐให้บริการรับสมัครงานหลากหลายช่องทาง
นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยท่าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ถึงแม้จะพบว่า สถานการณ์การว่างงานไม่ได้เป็นที่น่ากังวล โดยได้สั่งการให้กรมการจัดหางานวางแนวทางช่วยเหลือให้ผู้ว่างงานหลายช่องทางทั้งศูนย์ที่นี่มีงานทำ (Job Ready Center) ที่ตั้งขึ้นเพื่อหางานให้กับผู้จบปริญญาตรี พร้อมทั้งให้คำปรึกษา พัฒนาทักษะฝีมือ แนะแนวอาชีพ และจับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการ 11 แห่งทั่วประเทศ คือ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพมหานคร หรือหางานผ่านทาง LINE JOBS ,Job fair, Mobile App รวมทั้งตู้งาน (Job Box) ที่ตั้งกระจายอยู่ทุกจุดทั่วประเทศ ได้เช่นกัน
นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 ที่มีคนว่างงานประมาณ 3.73 แสนคน ว่า ปัญหาการว่างงานนั้นไม่ได้รุนแรง และน่ากังวล เพราะหากนำอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 มาเปรียบเทียบกับอัตราการว่างงานในช่วงเดียวกันของปี 2560 จะพบว่ามีคนว่างงานลดลงประมาณ 7 หมื่นคน คือ จาก 4.43 แสนคน เป็น 3.73 แสนคน และที่ช่วงต้นปี 2561 มีอัตราการว่างงานสูงในร้อยละ 1.3-1.2 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.0 นั้น หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การว่างงานในเดือนกันยายน 2561 จะเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.78 แสนคน และเป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 1.95 แสนคน ซึ่งเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการผลิตมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคเกษตร โดยเหตุผลของการว่างงานพบว่า เป็นการลาออกจากงานมากที่สุดประมาณ 1 แสนคน รองลงมาเป็นนายจ้างปิดกิจการ ประมาณ 3 หมื่นคน และหมดสัญญาจ้างประมาณ 2 หมื่นคน ดังนั้น จากข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการว่างงานนั้นไม่ได้รุนแรง และน่ากังวล และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนๆ จะพบว่า อัตราการว่างงานปี 2561 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมามีแนวโน้มต่ำกว่าปี 2559 – 2560
สำหรับช่วงอายุที่มีผู้ว่างงานมากที่สุด คือ 20-24 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ว่างงานคือแรงงานกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา โดยสาขาวิชาที่ว่างงานมากที่สุดคือพาณิชยศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 20.2 รองลงมา คือ ศึกษาศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 17.1 และสังคมศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 11.7 โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่พร้อมจะทำงานแต่เหตุผลที่ไม่หางานทำเพราะหางานมาแล้วแต่หาไม่ได้ ร้อยละ 79.1 รองลงมาคือ ไม่สามารถหางานที่เหมาะสมได้ร้อยละ 14.6 สะท้อนให้เห็นว่าผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ยังขาดคุณสมบัติตามที่ตลาดแรงงานต้องการ และส่วนหนึ่งว่างงานเพราะเลือกงาน ขณะที่ผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีอีกกลุ่มหนึ่งนั้น เป็นกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน จำนวน 22,525 คน หรือร้อยละ 19.59 ว่างงานมาแล้วโดยเฉลี่ย 1-2 เดือน หรือร้อยละ 29.14 โดยเคยทำงานในอาชีพเสมียนทั่วไปมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 13.69 รองลงมาคือ พนักงานขายในร้านค้า คิดเป็นร้อยละ 11.42 และผู้จัดการภัตตาคารและร้านอาหาร คิดเป็นร้อยละ 8.80 โดยสาเหตุที่ออกจากงานส่วนใหญ่มาจากการลาออกเอง คิดเป็นร้อยละ 59.45 รองลงมาคือ เลิก/หยุด/ปิดกิจการ คิดเป็นร้อยละ 8.97 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน นางเพชรรัตน์ฯ กล่าว