กรมปศุสัตว์หารือ 16 บริษัทผู้นำเข้าและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เพื่อเร่งปรับแผนการผลิตและการตลาดไก่ไข่

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 กรมปศุสัตว์จัดประชุมหารือร่วมกับ 16 บริษัทผู้นำเข้าและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์-ปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ด้วย เพื่อพิจารณาแผนการผลิตและการตลาดไก่ไข่  ปี 2562 โดยผลการหารือสรุปได้ว่า ทุกบริษัทพร้อมร่วมมือในการปรับลดแผนการนำเข้าและเลี้ยงลงอีก 10% ของปี 2561 ซึ่ง กรมปศุสัตว์จะได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) พิจารณาอนุมัติต่อไป  ซึ่งจะส่งผลให้ปี 2562 มีปริมาณพ่อแม่พันธุ์ (PS) ไม่เกิน 500,000 ตัว ปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ไม่เกิน 4,050 ตัว แม่ไก่ไข่ยืนกรงประมาณ 50 ล้านตัว ผลผลิตไข่ประมาณ 42-43 ล้านฟอง/วัน ซึ่งจะใกล้เคียงกับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกทั้งไข่สดและผลิตภัณฑ์ไข่แปรรูป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการแก้ไขราคาไข่ที่ลดลง เนื่องจากปริมาณไข่ที่ตกค้างจำนวนมากในช่วงเทศกาลกินเจและปิดเทอม โดยกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือให้ผู้เลี้ยงรายใหญ่เพิ่มปริมาณการส่งออกไข่ตาม แผนปฏิบัติการ PS Support ควบคู่กับการปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงอย่างต่อเนื่อง และกรมปศุสัตว์จะประสานความร่วมมือกับ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ด้านการตลาดภายในประเทศ ตามที่สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ขอความอนุเคราะห์ คาดว่าการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสถานการณ์ไก่ไข่ในปี 2561 (1 ม.ค.-22 ต.ค. 61) ของกรมปศุสัตว์พบว่า แผนการเลี้ยง PS 550,000 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 454,690 ตัว แผนการเลี้ยง GP 4,500 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 4,474 ตัว ผลการสำรวจแม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวน 58 ล้านตัว ผลผลิตไข่เฉลี่ยประมาณ 46-47 ล้านฟอง/วัน ราคาขายไข่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยฟองละ 2.44 บาท โดยตลอดปี 2561 กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการโครงการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำและล้นตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการระยะสั้น ประกอบด้วย การส่งออกไข่ไปจำหน่ายต่างประเทศ (PS Support) ตั้งแต่เดือน เม.ย. 61 จนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 258 ตู้คอนเทนเนอร์ (84 ล้านฟอง) ปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงที่อายุ 72 สัปดาห์ จำนวน 857,486 ตัว เฝ้าระวังราคาไข่ทั่วประเทศ โดยใช้แบบฟอร์มออนไลน์ ส่วนมาตรการระยะยาว ตรวจสอบปริมาณการนำเข้า การเลี้ยง และการปลด PS ไม่ให้เกินอายุ 72 สัปดาห์ ตามมติ Egg Board อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามสถานการณ์ราคาไข่คละหน้าฟาร์มได้ปรับลดลงเมื่อต้นเดือน ต.ค. 61 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ราคาเฉลี่ยฟองละ 2.30 บาท เนื่องจากปริมาณไข่ที่ตกค้างจำนวนมากในช่วงเทศกาลกินเจและปิดเทอม จึงต้องเร่งปรับแผน การผลิตและการตลาดไก่ไข่ เพื่อให้การเลี้ยงไก่ไข่และการผลิตไข่มีปริมาณที่เหมาะสม

ทั้งนี้ การรักษาเสถียรภาพราคาไข่ในระดับที่เกษตรกรพึงพอใจ จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำจากภาครัฐในการวิเคราะห์และวางแผน รวมถึงต้องได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้งรายใหญ่และรายย่อยอย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อพัฒนาให้อุตสาหกรรมการผลิตไข่ของประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวในที่สุด

 

—————————-

 

ข่าว/ข้อมูล : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๑)