กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และพันธมิตร จัดงานสัมมนาออนไลน์ในโอกาสครบรอบ 40 ปีที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงศึกษาภาษาจีน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ สำนักงานกรุงเทพฯ จัดงานสัมมนาออนไลน์ “CELEBRATING THE 40TH ANNIVERSARY OF H.R.H. PRINCESS MAHA CHAKRI SIRINDHORN LEARNING CHINESE AND THE FUTURE DEVELOPMENT OF CHINESE LANGUAGE EDUCATION IN THAILAND” ในโอกาสครบรอบ 40 ปีที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงศึกษาภาษาจีน


MHESI NEWS 2020/073 : 23 พฤศจิกายน 2563 : ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกล่าวปาฐกถาในการสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “เพื่อการเฉลิมฉลอง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาภาษาจีนครบ 40 ปี และการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในอนาคตของประเทศไทย” โดยมี อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน อธิบดีศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ สำนักงานกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และ ศาสตราจารย์จาง อิง พระอาจารย์ภาษาจีน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าร่วมการสัมมนาฯ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพมหานคร


เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลา 40 ปี ของการศึกษาภาษาจีน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นต้นแบบและผู้มีคุณูปการด้านการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทรงเป็นแรงบันดาลใจและพลังขับเคลื่อนให้พสกนิกรไทย เน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชนในหลายรูปแบบ ผ่านความร่วมมือทางวิชาการ การเรียนรู้และทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย การยอมรับคุณวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาระหว่างกัน การจัดครูอาสาสมัครชาวจีนเพื่อมาช่วยสอนและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสถาบันการศึกษาไทย รวมถึงการแข่งขันประกวดสุนทรพจน์และความรู้ภาษาจีนระดับอุดมศึกษา “สะพานสู่ภาษาจีน” เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในโลกยุคดิจิทัล สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น และสร้างสรรค์รูปแบบความร่วมมือใหม่ ๆ ที่สอดรับกับความต้องการที่หลากหลายให้มีประสิทธิภาพและความเป็นสากล เช่น การปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยสนับสนุนกิจกรรมการศึกษา การผลิตบัณฑิตและนักวิชาชีพที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายคนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือทางวิชาการกับมิตรประเทศ เช่น จีน เพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการศึกษาให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดและมั่นคงไปด้วยกัน

………………………………………………………………………..