ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2563 (National Engineering) ซึ่งจัดโดย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเวทีเสวนา เรื่อง วิศวกรไทย 2021 กับการปรับตัวในโลกยุควิถีใหม่ โดยมี 3 ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของประเทศ เปิดมุมมองและเทคนิควิธีการปรับตัว เพื่อเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนธุรกิจ และเปลี่ยนโลกไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง โดยมี ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมระบบราง วสท. เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อเร็วๆ นี้
ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิตและผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ใน 50 ปีที่ผ่านมา วิชาชีพวิศวกรรมได้ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงโลกแห่งนวัตกรรมและการค้าอุตสาหกรรมมากมาย ดังจะเห็นได้ชัดจาก Skylines แนวขอบฟ้าของเมืองต่างๆทั่วโลก ที่มีความทันสมัยและเป็นสมาร์ทซิตี้มากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เกิดการพัฒนา Digitization ในวงการวิศวกรรมและออกแบบ ช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลเกิดประสิทธิภาพและบูรณาการ สามารถออกแบบโครงสร้างต่างๆ อย่างไร้ขีดจำกัด ในอนาคตทุกอย่างจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องมือ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยี วิศวกรจึงจำเป็นต้องสร้างเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ควบคู่กับการเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเทคโนโลยีใหม่ที่จะเปลี่ยนผ่านการทำงานของวิศวกร ได้แก่ 1. หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเข้ามาช่วยในกระบวนการวิเคราะห์ออกแบบ ก่อสร้างและการทำงานของวิศวกร สามารถทำงานภายใต้ข้อจำกัดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุนและกำลังคน 2. เทคโนโลยี 3D Printing ปฏิวัติการก่อสร้างจากรูปแบบเดิมๆ ช่วยปลดล็อคงานออกแบบสู่ความเป็นอิสระ 3. โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ นำมาใช้เพื่อการสำรวจพื้นที่และอาคาร ช่วยวิศกรให้ทำงานได้สะดวกรวดเร็ว และประหยัดแรงงานได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 4. BIM ช่วยสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ทำให้วิศวกรและสถาปนิกสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งแบบได้ง่าย ปรับเปลี่ยนแบบ คำนวณต้นทุนได้ง่าย สามารถ Up Scale และยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการคัดลอกซ้ำ รวมถึง VR/AR ซึ่งจะช่วยให้การเสริมวัตถุจำลองเข้าไปในวัตถุและสภาพแวดล้อมที่มีอยู่จริง ทำให้สามารถมองเห็นสิ่งก่อสร้างแบบเสมือนจริง
ทั้งนี้ วิศวกรยุคใหม่ 2021 จะต้องมีความรู้และความสามารถใน การเพิ่มอัจฉริยภาพ (Smartness) ให้เมืองมีความสมาร์ทและทันสมัย ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) ในด้านต่างๆ ทั้งการใช้ข้อมูลของผู้ใช้บริการสาธารณะในการปรับปรุงบริการสาธารณะและทำนายอุปสงค์ของพลเมือง รวมถึงการใช้ระบบเซนเซอร์ (Sensors) สำหรับจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้บริการและใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายผู้ให้บริการ กระตุ้นให้ประชาคมเมืองมีส่วนร่วมและผูกพันให้เกิดพลังสามัคคีก้าวเดินไปด้วยกัน
แนวโน้มวิถีการทำงานทางวิศวกรรมในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันปัญหาโควิด-19 ยังแพร่ระบาดในหลายภูมิภาคโลก แต่ในทางกลับกันยังทำให้วิถีชีวิตของวิศวกรและผู้คนเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น 1. Work From Home / Online Meeting เป็นการลดค่าใช้จ่ายภายในสำนักงาน และลดการเสียเวลาในการเดินทางของพนักงาน โดยต้องกำหนด KPI ชุดใหม่ ที่ไม่วัดด้วยเวลาในการทำงาน แต่วัดด้วยปริมาณผลงานหรือความก้าวหน้าของโครงการ 2. Gig Economy งานไม่ประจำ รับจ้างเป็นครั้งๆ จะมาแทนที่การจ้างงานแบบนายจ้าง-ลูกจ้าง โดยเฉพาะในวิชาชีพ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี นักกฎหมาย เป็นต้น 3. Fund Efficiency บริษัทวิศวกรรมจะเปลี่ยนตัวชี้วัดจากผลผลิตมาเป็นประสิทธิภาพของการใช้เงินทุน ซึ่งบริษัทที่ใช้เงินต้นทุนน้อยและเงินสดหมุนเวียนมากจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน 4. Get Jobs Anywhere, Produce Anywhere And Deliver Anywhere ผลิตภัณฑ์วิศวกรรมทุกอย่างจะต้องแปลงให้เป็นดิจิทัล เพื่อสามารถส่งให้ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องได้ทางออนไลน์ สิ่งนี้จะสอดคล้องกับแนวคิดว่า รับงานที่ไหนก็ได้ ผลิตงานที่ไหนก็ได้ และส่งงานที่ไหนก็ได้ 5. Business Shift To Areas With Great Potential To Scale Up บริษัทที่จะอยู่รอดได้ในอนาคตจะต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจ ไปสู่ธุรกิจที่ยังมีช่องว่างในการขยายตัว เช่น วิศวกรรมเมืองอัจฉริยะ เทคโนโลยีสุขภาพ พลังงานสะอาด วิศวกรรมพันธุกรรม ซอฟต์แวร์ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า วิศวกรไทยต้องยกระดับการทำงานด้วยความรู้ ประสบการณ์ และปรับตัวพัฒนาในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่ามนุษย์ หลายคนเข้าใจว่าเรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นสิ่งใหม่ แต่จริงๆ แล้วในแวดวงวิศวกรรม AI ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงปี 80 ซึ่งปัจจุบันได้ขยายบทบาทการใช้งานมากขึ้น เนื่องจากประสิทธิและความสามารถที่เพิ่มขึ้น การค้นหาข้อมูลมหาศาลภายในไม่กี่วินาที อีกทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังช่วยเร่งการพัฒนาด้าน AI เพิ่มขึ้น เพราะมี Drive Force งานวิจัยสิ่งที่ต้องการเอาชนะร่วมกัน การคิดนอกกรอบภายใต้ขีดจำกัด ทั้งด้านเวลา เงินทุน และความปลอดภัย ดังนั้นวิศวกรยุคใหม่จำเป็นต้องเตรียมพร้อม คือ 1. Environmental Scanning ติดตามก้าวทันสถานการณ์ของโลกที่ไร้พรมแดน 2. Relevant Positioning เลือกปรับธุรกิจให้ตรงกับแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงของโลก 3. ReSkilling Strength ปรับเปลี่ยนทักษะจุดแข็งให้ตรงกับธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต 4. Globalization พร้อมทำงานกับบุคลากรในหลากหลายวัฒนธรรมและวิชาชีพ
ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ รองผู้อำนวยการภารกิจกำกับติดตามการใช้งบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ปัญหาที่น่ากังวลและน่าเป็นห่วงมากยิ่งกว่าไวรัสโคโรน่า คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและปัญหามลพิษ โดยจะเห็นว่าเมื่อโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก รัฐบาลไทยได้สั่งให้มีการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งช่วยลดการปลดปล่อยมลพิษได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น และช่วยยืดระยะเวลาการใช้ทรัพยากรประเทศเพียง 3 สัปดาห์ แต่คลื่นกระทบใหญ่ที่กำลังตามมาคือ ปัญหาขยะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปัญหาสารเคมีปนเบื้อนในแหล่งน้ำและระบบนิเวศน์ ซึ่งเกิดจากการใช้สารเคมีฆ่าเชื้อโรค
รวมถึงในด้านสิ่งแวดล้อม วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดการปรับจุดอ้างอิงใหม่ (Arbitrary Coherence) เป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนใส่ใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษกันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นวิศวกรทุกสาขาต้องร่วมพลังกันเพื่อช่วยกันรับมือกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่ 1. การเป็นผู้นำวิศวกรรรมใหม่ๆ (Circular Economy) ในการนำเสนอเทคโนโลยีที่ดีให้กับลูกค้า 2. การเป็นผู้นำเสนอทางเลือกวิศวกรรมที่รับผิดชอบ (Internalize Externality) โดยคำนึงถึงความยั่งยืน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผลกระทบอย่างรอบด้าน 3. การเป็นผู้ร่วมออกแบบสังคมใหม่ (Social Co-Designer) เนื่องจากวิศวกรเป็นจุดเริ่มจุดแรกของการพัฒนาเมือง จึงมีบทบาทสำคัญที่จะส่งผ่านการพัฒนาด้วยบริการและเทคโนโลยีที่สะอาด การพัฒนาสมาร์ทซิตี้เข้าไปในระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติและเกิดองค์ความรู้ที่ยั่งยืนต่อชุมชนเมือง ประเทศ และสังคมโลก
…………………………………………………..