พบวิธีป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรค “RSV” เชื้อโรคตัวร้ายที่ทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็ก ช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว

เชื้อ RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่พบระบาดมากในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปีทั่วโลก ในประเทศไทยมักมีการระบาดในช่วงฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว เชื้อ RSV นี้ เมื่อเกิดการติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้ เชื้อนี้ติดต่อกันได้ง่ายในเด็กเล็ก ทางการไอ จาม การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก เสมหะ น้ำลาย ซึ่งปนเปื้อนที่โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ของเล่น เป็นต้น หรือติดต่อโดยการสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกายอาการ

เด็กจะมีอาการไอมาก มีเสมหะมาก เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ดๆ อาจมีน้ำมูกหรือจามร่วมด้วย บางครั้งเหมือนมีเสมหะคั่งค้างในหลอดลมตลอด ไอติด ๆ แต่ขับเสมหะไม่ออก อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไข้สูงก็ได้

วิธีสังเกตอาการ

ระยะฟักตัว 3 – 6 วันหลังได้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัด จากนั้นจะออกอาการต่างดังกล่าวข้างต้น

ความรุนแรง

เด็กเล็กที่มีโรคหรือภาวะประจำตัว อาทิ เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคปอด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคหลอดลมไวเกิน โรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อติดเชื้อ RSV จะมีอาการทรุดหนักกว่าเด็กทั่วไป บางครั้งการอักเสบลงหลอดลมส่วนลึก หรือลงเนื้อปอด เกิดภาวะขาดออกซิเจน ภาวะการหายใจล้มเหลว หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม

สำหรับเด็กเล็กที่มีสุขภาพแข็งแรง เด็กโต หรือผู้ใหญ่ อาการจะคล้ายไข้หวัดและจะสามารถหายได้เอง โดยทั่วไปเด็กเล็กอาจมีอาการนานถึง 1 – 2 สัปดาห์จึงจะดีขึ้น

วิธีการป้องกัน

แม้ว่าในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์จะค้นพบเชื้อไวรัส RSV มานานกว่า 60 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการคิดค้น หรือผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนั้น การป้องกันให้ใช้วิธีเดียวกันกับการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ คือ

1. การใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชนหรือมีคนอยู่แออัด

2. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำกับสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์

3. พยายามสอนหรือฝึกเด็กเล็กไม่ให้นำนิ้วมือใส่จมูก ปาก หรือ ขยี้ตา

4. รักษาระยะห่างจากคนที่ป่วย

5. หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปเล่นคลุกคลีใกล้ชิดกับกลุ่มเด็กเล็ก หรือเด็กที่ป่วย ไอ ไม่สบาย

6. ทำความสะอาดของเล่นเด็กและของใช้เป็นประจำ

7. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับเด็กคนอื่น

8. หลีกเลี่ยงควันบุหรี่หรือมลพิษฝุ่นพิษในอากาศ

9. ดื่มน้ำอุ่นน้ำสะอาดเป็นประจำ

การรักษา

ยังไม่มีการใช้ยาต้านไวรัสที่จำเพาะเจาะจงอย่างแพร่หลาย จะพิจารณาใช้ยาได้ในผู้ป่วยหนักบางกรณีเท่านั้น เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างอันตราย โดยทั่วไปจึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ อาทิ การให้ออกซิเจนทางจมูกหรือทางปาก การให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดดำเพื่อเพิ่มสารน้ำในร่างกาย การเคาะปอด การดูดเสมหะ สามารถให้ยาพ่นและยากินช่วยขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ ถ้ามีไข้ให้เช็ดตัวลดไข้หรือกินยาน้ำแก้ไข้พาราเซ็ตตามอลได้

…………………………………………………………………..

ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.นพ.ปรีดา วาณิชยเศรษฐกุล

แพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชศาสตร์ โรคมะเร็งและโลหิตวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์