กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการ “หัวโขนชั้นครู”เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ หัวโขน ซึ่งถือเป็นงานประณีตศิลป์ที่มีแบบแผนจารีตและความประณีตในทักษะฝีมือเชิงช่าง เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ถึง ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ณ ชั้น ๔ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานเปิดนิทรรศการฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่องค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้โขนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้อไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นั้น สร้างความภาคภูมิใจให้แก่สังคมไทยเป็นอย่างมากและนับว่าเป็นความสำเร็จที่น่ายินดียิ่งเพราะเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงโขน ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จึงพร้อมใจกันจัดกิจกรรมเผยแพร่คุณค่าและความสำคัญของโขน ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงทำนุบำรุงโขน ทรงฟื้นฟู สืบศาสตร์ศิลป์แผ่นดินหลายแขนงที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงโขน ซึ่งไม่ใช่แค่การฟื้นฟูนาฏศิลป์ แต่เป็นการพลิกฟื้นศาสตร์และงานฝีมือ ช่างหัตศิลป์ไทยหลายสาขา เพื่อเชิดชูศิลปะการแสดงชั้นสูงแขนงนี้ให้ถูกต้องครบถ้วนตามแบบแผน นับได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่มีการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ หัวโขน คือหนึ่งในงานช่างหัตศิลป์ไทยที่มีความประณีตศิลป์ชั้นสูงที่มีเอกลักษณ์และคุณค่าของชาติไทย เป็นศิลปะไทยที่รวมเอาความสามารถของช่างฝีมือหลายแขนงไว้ด้วยกัน คุณค่าและประโยชน์ของหัวโขนนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องสวมศีรษะในการแสดงโขนเท่านั้น ความงดงามของงานประณีตศิลป์ หัวโขน ยังคงมีเสน่ห์จนเป็นที่ต้องการของนักสะสมและนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในงานหัตศิลป์ไทยและเป็นงานที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สะท้อนศิลปวัฒนธรรมของไทยอันควรค่าแก่การดำรงรักษาไว้อยู่คู่กับแผ่นดินไทยสืบไป
ด้านนายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้สนับสนุนโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวกับโขนตลอดจนได้ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างและผลิตสื่อต่างๆในหลายรูปแบบ รวมทั้งได้สนับสนุนโครงการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “โขน” โดยบูรณาการความร่วมมือกับสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อศึกษาสถานะการสืบทอดรายการโขนเพื่อเป็นข้อมูลในการเสนอรายงานต่อยูเนสโกและการเผยแพร่ความรู้ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับวันนี้ กิจกรรมสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นิทรรศการหัวโขนชั้นครู ซึ่งมีการนำหัวโขน มากกว่า ๙๓ หัว อาทิ หัวพระ หัวยักษ์ หัวลิง หัวพระฤาษี หัวพระพิราพ เป็นต้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหัวโขน ซึ่งถือเป็นงานประณีตศิลป์ที่มีแบบแผนจารีต และความประณีตในทักษะฝีมือ เชิงช่างเพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนประชาชนและผู้สนใจได้รับความรู้เกิดความซาบซึ้งในความงามอันเป็นศาสตร์อีกด้านหนึ่งของศิลปะการแสดงโขนอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับนิทรรศการ “หัวโขนชั้นครู” กำหนดจัดแสดงและเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชม ตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน
ถึง ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ณ ชั้น ๔ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐-๑๙.๐๐ น. ทุกวัน (ปิดวันพุธ )