กรุงเทพฯ : 24 ตุลาคม 2561 – ผลประกอบการไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกปี 2561 ของเอสซีจี รายได้เพิ่มขึ้นทุกธุรกิจ ขณะที่กำไรลดลงเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น การค้าโลกชะลอตัว ตลอดจนการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี เผยเกาะติดสถานการณ์สงครามการค้าและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก พร้อมเร่งผลักดันแผน 6 ด้าน เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของธุรกิจ ได้แก่ ขยายโอกาสส่งออกตามทิศทางของตลาดโลก บริหารจัดการต้นทุนพลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มประสิทธิภาพเงินทุนหมุนเวียน และทบทวนโครงการลงทุนและต้นทุนการลงทุน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 122,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน จากการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีกำไร 9,473 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 24 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี (asset impairments) ตามมาตรฐานบัญชี 1,670 ล้านบาท และต้นทุนวัตถุดิบ Naphtha ที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งหากไม่รวมการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีดังกล่าว จะทำให้เอสซีจีมีกำไร 11,143 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2561 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 361,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ของทุกกลุ่มธุรกิจที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไร 34,281 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ ประกอบกับการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในไตรมาสที่ 3 นอกจากนี้ เอสซีจียังมีรายได้จากการส่งออก 97,924 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับผลการดำเนินงานของเอสซีจี นอกเหนือจากประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 เอสซีจีมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 30,899 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 มีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 87,943 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24 จากยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่น ๆ 64,322 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 จากยอดขายรวม
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 มีมูลค่า 592,399 ล้านบาท โดยร้อยละ 26 เป็นสินทรัพย์ ในอาเซียน
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2561 แยกตามรายธุรกิจดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 57,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของ ปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน จากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 7,485 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 167,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และมีกำไร 23,751 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 46,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน จากการขยายตัวของตลาดในภูมิภาค โดยมีกำไรสำหรับงวดเมื่อไม่รวมการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีเท่ากับ 1,585 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี กำไรสำหรับงวดจะเท่ากับ 265 ล้านบาท
สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 137,224 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของตลาดในภูมิภาค และมีกำไรเท่ากับ 4,426 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีรายได้จากการขาย 22,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของ ปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน จากราคาขายที่เพิ่มขึ้นทั้งสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 128 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน จากราคาของสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและการปรับลดต้นทุนให้ต่ำลง
สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2561 ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีรายได้จากการขาย 65,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และมีกำไร 4,827 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า “ผลประกอบการของเอสซีจีในช่วงไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกปี 2561 มีรายได้เพิ่มขึ้นทุกธุรกิจ จากตลาดโดยรวมที่มีแนวโน้มดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งตลาดเคมิคอลส์และแพคเกจจิ้งที่ยังมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่มีกำไรลดลงจากปัจจัยต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนการค้าโลกที่ชะลอตัว และการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี
อย่างไรก็ตาม เอสซีจีได้เกาะติดสถานการณ์สงครามการค้า และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง และได้ตระหนักถึงผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อธุรกิจโดยรวม ซึ่งขณะเดียวกันก็สามารถเอื้อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ได้เช่นกัน เอสซีจีจึงปรับตัวรับมือสถานการณ์ดังกล่าวด้วยแผน 6 ด้าน ที่พนักงานทุกระดับร่วมมือกันปฏิบัติ เพื่อรักษาและเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.) การขยายโอกาสส่งออกตามทิศทางของตลาดโลก ซึ่งมีเส้นทางการค้าที่เปลี่ยนไปจากผลของสงครามการค้า เช่น การส่งออกสินค้าไปยังจีนและสหรัฐฯ ในช่วงที่สงครามการค้ายังดำเนินอยู่ ตลอดจนแผนระยะยาวที่นอกจากจะเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานตลาดในประเทศแล้ว เอสซีจียังเน้นการขยายฐานตลาดสู่ภูมิภาคอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดหนึ่งในโครงการสำคัญอย่างโครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP ในเวียดนามก็คืบหน้าตามแผน โดยเริ่มดำเนินการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการเตรียมที่ดินสำหรับการก่อสร้างแล้ว หลังเสร็จสิ้นการลงนามสัญญาเงินกู้กับ 6 สถาบันการเงินชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ทันช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566
อีกทั้งเอสซีจียังมองหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพและมูลค่าของตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น การขยายธุรกิจโลจิสติกส์ไปในจีน โดยร่วมกับ Jusda Supply Chain Management International (JUSDA) บริษัทลูกของ Foxconn ในการให้บริการขนส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วจีน รวมถึงพัฒนาระบบการขนส่งข้ามแดนระหว่างจีนและอาเซียนในรูปแบบ Total Supply Chain Solution ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อติดตามสถานะและควบคุมระบบขนส่ง โดยระยะแรกจะเน้นให้บริการที่จีนตอนใต้ ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งให้เอสซีจี พร้อมรองรับการขยายธุรกิจ Sourcing และ e-commerce ขายสินค้าไทยไปยังจีน นอกจากนี้ ด้วยนวัตกรรมโซลูชั่น Fulfillment by SCG Logistics ครบวงจร ที่ให้บริการคลังสินค้าจัดเก็บ บรรจุหีบห่อ และจัดส่งสินค้าตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ยังช่วยเชื่อมต่อและให้บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไทยไปยังจีน รวมทั้งตลาดอื่น ๆ เช่น อินเดีย ด้วย
2.) การบริหารจัดการต้นทุนพลังงาน เช่น การทำสัญญาซื้อขายถ่านหินล่วงหน้า ทำให้เอสซีจีสามารถลดค่าใช้จ่าย ด้านพลังงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ได้กว่า 400 ล้านบาท (เมื่อเทียบกับแผนที่วางไว้) และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน โดยสามารถจ่ายไฟได้แล้ว 38 เมกะวัตต์ ทำให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอกคิดเป็นผลประหยัด 170 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับปรุงเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วย IoT แพลตฟอร์ม และโครงการที่ใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ รวมกว่า 100 โครงการ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะมีผลประหยัด 615 ล้านบาทต่อปี
3.) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างการเติบโตให้ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดได้ร่วมกับดิจิทัล เวนเจอร์ส ในการนำ Blockchain มาใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกับคู่ค้าอย่างครบวงจร ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยบุคลากรในองค์กร เช่น ระบบ Robotic Process Automation ที่จะช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพสูง นอกจากนั้น AddVentures ซึ่งเป็น Corporate Venture Capital (CVC) ของเอสซีจี ก็ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 415 ล้านบาท
4.) การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต 6 กลุ่ม เช่น อาคารอัจฉริยะ พลังงานหมุนเวียน AI และ Big Data โดยล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS ICCB) ซึ่งมีสถาบันวิจัยในเครือข่ายมากกว่า 100 แห่งในประเทศจีน ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2561 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 139,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 39 ของยอดขายรวม โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 3,535 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม และตั้งเป้าเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 – 2 ของยอดขายรวมในอนาคต อีกทั้งยังเร่งสร้างความแข็งแกร่งในภาคบริการ ให้สอดรับความต้องการของผู้บริโภค โดยร่วมกับบุญถาวร จัดตั้งบริษัทร่วมทุนดำเนินธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาสแรกของปี 2562
นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัว “SCG HOME” เพื่อพลิกโฉมธุรกิจสู่การเป็นผู้ให้บริการพร้อมคัดสรรนวัตกรรมสินค้าที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ลูกค้าแบบครบวงจร สำหรับการอยู่อาศัยในทุกรูปแบบและหลากหลายช่วงอายุ ทั้งกลุ่ม Eldercare, Smart Living และ Smart Care ตลอดจนการพัฒนา Home Buddy Application ที่ช่วยให้การสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงบ้านเป็นเรื่องง่ายขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ และยังเป็นช่องทางการเข้าถึงนวัตกรรมสินค้าและบริการที่สะดวกสบาย เชื่อมต่อกันทั้งหน้าร้านและออนไลน์ โดยลูกค้าสามารถสัมผัสประสบการณ์ใหม่นี้เป็นครั้งแรกได้ที่ SCG HOME Pop-up Store ใน “งานบ้านและสวนแฟร์ 2018” ระหว่างวันที่ 26 ต.ค. – 4 พ.ย. 61 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
5.) การเพิ่มประสิทธิภาพเงินทุนหมุนเวียน ด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เอสซีจีมีเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ 76,008 ล้านบาท ทั้งนี้ มีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร (cash & cash under management) 52,614 ล้านบาท สอดคล้องกับแผนการลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน
6.) การทบทวนโครงการลงทุนและต้นทุนการลงทุน โดยเน้นเฉพาะโครงการที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้จากสภาพการณ์ในปัจจุบัน เช่น การลงทุนในโครงการประหยัดพลังงาน อาทิ การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเตรียมให้บริการในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจรเป็นรายแรกของไทยในปี 2562 ตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ ติดตั้ง และบริการหลังการขาย ให้แก่ผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
“ทั้งนี้ เอสซีจียังมั่นใจว่าจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและในภูมิภาคไว้ได้ ด้วยการวางกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้นเพื่อให้สามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ด้วยแผน 6 ด้านข้างต้น ประกอบกับกลยุทธ์ในระยะยาวที่เอสซีจีได้วางรากฐานไว้เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายรุ่งโรจน์ กล่าวสรุป
******************************************