ตามที่ปรากฏเป็นข่าววันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ผ่านสื่อมวลชนและสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ กรณีชาวบ้านหมู่ 9 บ้านโคกสะอาด ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ ขุดสระ พบก้อนหินประหลาดโปร่งแสง มีผลึก ผิวมีความมันวาว สะท้อนแสง
กรมทรัพยากรธรณี ขอชี้แจงว่า หินที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น แท้จริงแล้ว คือ แร่ควอตซ์ ที่มีซิลิก้า (SiO2) เป็นองค์ประกอบหลัก โดยธรรมชาติจะมีสีขาวโปร่งแสงและใสเหมือนกระจก หากเป็นผลึกจะเรียกว่าหินเขี้ยวหนุมาน ในธรรมชาติแร่ควอตซ์มีหลายสีหากมีม่วงเรียก Amethyst สีเหลืองเรียก Citrine เป็นต้น
คุณสมบัติของแร่ควอตซ์ มีความคงทนต่อการถูกทำลายสูง มีความแข็งเท่ากับ 7 (เพชรความแข็งเท่ากับ 10) ในธรรมชาติเมื่อแร่ควอตซ์ผุพัง ถูกกัดเซาะทำลาย จะแตกสลายเป็นเม็ดกรวด ทราย ปะปนอยู่ในดินทั่วไป สันทรายหรือชายหาด
สำหรับประเด็นที่ข่าวนำเสนอว่า ขณะที่รถแบคโฮกำลังขุดอยู่ มีแสงประหลาดพุ่งสะท้อนขึ้นมานั้น เป็นไปได้ว่าเกิดจากการกระทบของเล็บบุ้งกี๋แบคโฮกับแร่ควอตซ์ซึ่งแข็งกว่า ทำให้เกิดประกายไฟ
ประโยชน์ของแร่ควอตซ์ นำมาถลุงในอุตสาหกรรมแก้ว กระจก ขวดน้ำ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ทรายแก้วที่ได้จากการผุพังและสะสมตัวของแร่ควอตซ์ สำหรับควอตซ์ที่บริสุทธิ์ นำมาใช้ทำเส้นใยไฟเบอร์ออพติค และไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
TIPS วิธีทดสอบเบื้องต้น…
1) นำตัวอย่างมาขูดหรือขีดบนแผ่นกระจก หากขูดเข้าเป็นรอย สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นแร่ควอตซ์ เนื่องจาก ควอตซ์มีความแข็ง 7 กระจก แข็ง 5.5
2) หากขูดไม่เข้า หรือไม่พบรอย ให้ใช้กรดหรือน้ำส้มสายชูหยด หากเกิดเป็นฟองก๊าสเล็กๆ สันนิษฐานว่าเป็นแร่แคลไซต์ (ความแข็ง 3)
3) หากแร่ที่พบ มีความแข็งน้อย จนสามารถใช้เล็บขูดเป็นรอยได้ สันนิษฐานว่าเป็นแร่ยิปซัม (ความแข็ง 2)