การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ออกโรงชี้แจงความคืบหน้าโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา “Colletotrichum sp.” ยันไม่นิ่งนอนใจ ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามใกล้ชิด ทีมวิจัย กยท. ชี้ เนื่องจากเป็นเชื้อชนิดใหม่ต้องใช้เวลาในการศึกษา สำรวจโรค และหาวิธีกำจัดที่เหมาะสม
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท. ได้รับรายงานการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในพื้นที่ภาคใต้เมื่อปี 2562 ใน 10 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง กระบี่ พังงา พัทลุง และสุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ระบาดสูงสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2563 จำนวน 775,195 ไร่ โดยพบการระบาดมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เป็นไปได้ที่เชื้อราตัวนี้มีการแพร่กระจายเข้ามาระบาดในพื้นที่ปลูกยางแถบชายแดนรอยต่อกับประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกันคือร้อนชื้นและฝนตกชุก หลังจากได้นำตัวอย่างไปวิเคราะห์พิสูจน์เชื้อหาสาเหตุแล้ว พบว่าโรคใบร่วงชนิดนี้เป็นเชื้อ Colletotrichum sp. จากนั้นต้นยางพาราเข้าสู่การผลัดใบตามฤดูกาล โรคจึงคลี่คลายไปกับใบที่ร่วงหล่น และหลังจากมีการแตกใบใหม่พบการระบาดซ้ำในปีที่ 2 โดยข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 พบการระบาดใน 7 จังหวัดได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา พังงา พัทลุง และสุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ระบาด 116,674 ไร่ และมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ สั่งการให้ตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการโรค ประกอบด้วย การยางแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกองการยาง กรมวิชาการเกษตร ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้แทนจากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช และเทคโนโลยีสารสนเทศ ในส่วนของ กยท. ได้เร่งออกคำแนะนำ ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจและแนะแนวทางการป้องกันและกำจัดโรค การเก็บใบที่ร่วงทำลาย สาธิตและสนับสนุนปัจจัยในการป้องกันกำจัดโรคในพื้นที่ การบำรุงรักษาสวนยาง และการใช้ยาป้องกันกำจัดโรค สนับสนุนเงินอุดหนุนตามมาตรา 49 (3) เพื่อจัดหาอุปกรณ์และสารเคมีในการฉีด พ่นสาร เพื่อยับยั้งเชื้อโรค โดย กยท. ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจัดทำโครงการขอสนับสนุนเงินอุดหนุนดังกล่าว
นอกเหนือจากนี้ ในส่วนของการศึกษาวิจัย เนื่องจากเป็นโรคระบาดชนิดใหม่ กยท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ การวิจัยเร่งด่วน ได้แก่ การศึกษาหาเชื้อสาเหตุของโรค การศึกษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค การสำรวจพื้นที่เกิดโรคและผลกระทบต่อผลผลิต การแปลภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่เกิดโรคใบร่วง การศึกษาสารป้องกันกำจัดเชื้อราที่มีประสิทธิภาพ การวิจัยระยะกลาง ได้แก่ การพัฒนาโครงการการคัดเลือกพันธุ์ยางต้านทานโรคใบร่วงชนิดใหม่ เพื่อที่จะให้ได้พันธุ์ยางทนโรคหรือได้พันธุ์ยางต้านทานโรค ผู้ว่าการ กล่าวทิ้งท้าย