การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2561 หดตัวที่ร้อยละ 5.2 หรือคิดเป็นมูลค่า 20,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป (15) สหรัฐฯ และญี่ปุ่น และตลาด CLMV ยังคงขยายตัวดี การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ร้อยละ 0.6 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม และผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 6.7 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2561 มีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า และประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่มีความชัดเจนและอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าการส่งออกในปี 2561 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8 ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ และผู้ประกอบการส่งออกส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโต สะท้อนจากโอกาสในการเร่งส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และการกระจายความเสี่ยงการส่งออกไปยังตลาดใหม่
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนกันยายน 2561 การส่งออกมีมูลค่า 676,410 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 669,280 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.8 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 7,130 ล้านบาท รวม 9 เดือนของปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 6,057,520 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9) การนำเข้ามีมูลค่า 6,048,330 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6) และการค้าเกินดุล 9,191 ล้านบาท
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกันยายน 2561 การส่งออกมีมูลค่า 20,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,213
ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.9 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 487 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 9 เดือนของปี 2561
การส่งออกมีมูลค่า 189,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1) การนำเข้ามีมูลค่า 186,891 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2) และการค้าเกินดุล 2,839 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 0.6 (YoY) โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัวทั้งปริมาณและราคา ขยายตัวที่ร้อยละ 20.5 (ขยายตัวในตลาดเบนิน แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ จีน และฟิลิปปินส์) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวด้านราคาเป็นหลัก ขยายตัวร้อยละ 21.7 (ขยายตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐฯ) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 5.4 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 7.7 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ และฮ่องกง) สินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวทั้งด้านปริมาณและราคา หดตัวร้อยละ 24.3 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่ยังขยายตัวสูงในอินเดีย) น้ำตาลทราย หดตัวที่ร้อยละ 10.6 (หดตัวในตลาดกัมพูชา และเมียนมา แต่ขยายตัวระดับสูงในอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย) ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2561 กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.4
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน หดตัวที่ร้อยละ 6.7 (YoY) โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 7.9 (ขยายตัวในตลาดจีน กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น) เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 4.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และอินเดีย) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 9.7 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และสหรัฐฯ) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 4.4 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวที่ร้อยละ 78.7 (หดตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง แต่ยังขยายตัวในตลาดกัมพูชา และจีน) รถยนต์และส่วนประกอบ หดตัวเกือบทุกตลาดร้อยละ 7.4 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดเวียดนาม และญี่ปุ่น) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 32.6 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง เม็กซิโก และเนเธอร์แลนด์ แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 10.6 (หดตัวในตลาดฮ่องกง จีน และญี่ปุ่น แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ และสิงคโปร์) ภาพรวม
9 เดือนแรกของปี 2561 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวร้อยละ 8.1
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดหลัก และตลาด CLMV ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 1.7 และ 17.5 แม้ว่าการส่งออกไปตลาดสำคัญอื่นๆ ปรับตัวลดลง โดย ตลาดหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป (15) สหรัฐฯ และญี่ปุ่น การส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.9 1.2 และ 0.2 ตามลำดับ ขณะที่ ตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 1.2 ซึ่งการส่งออกไปตลาดจีนและเอเชียใต้หดตัวร้อยละ 14.1 และ 3.7 ตามลำดับ และ ตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ร้อยละ 6.9 โดยการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย กลุ่มประเทศ CIS และตะวันออกกลางหดตัวร้อยละ 19.3 19.9 และ 0.5 ตามลำดับ
ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 17.5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และสินค้าปศุสัตว์อื่น เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.4
ตลาดสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 3.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป เครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.9
ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 1.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง
อัญมณีและเครื่องประดับ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.0
ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 0.2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และ ไก่แปรรูป เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.7
ตลาดอาเซียน-5 ขยายตัวร้อยละ 0.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ข้าว เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป และ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.5
ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 0.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และ ตู้เย็นและส่วนประกอบฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาป ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 หดตัวร้อยละ 2.1
ตลาดเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 3.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ยางพารา ปูนซิเมนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 17.7
ตลาดจีน หดตัวร้อยละ 14.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และรถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.8
ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 12 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป และโทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และเหล็กและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.2
ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 19.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศฯ และ เคมีภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่เหล็กและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.5
ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 19.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และ อัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาป เครื่องจักรกล และ เม็ดพลาสติก ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 21.9
แนวโน้มการส่งออกปี 2561
ในภาพรวม กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าการส่งออกในปี 2561 จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ ร้อยละ 8 แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง สินค้าส่งออกของไทยที่มีความหลากหลายและความสามารถทางการแข่งขันในระดับสูง จะช่วยสนับสนุนโอกาสในการเร่งผลักดันการส่งออกท่ามกลางความท้าทายในระยะสั้น-กลางที่ไทยต้องเผชิญ โดยผู้ประกอบการส่งออกส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโต สะท้อนจากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก และดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขัน ไตรมาส 4/2561 เท่ากับ 64.8 และ 61.4 ตามลำดับ ซึ่งยังสูงกว่าระดับ 50 ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกในเดือนตุลาคม 2561จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกันยายน วัดจากดัชนีมูลค่าการส่งออก และดัชนีมูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 53.7 และ 53.6 ตามลำดับ
แม้ว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุนในระยะสั้น การเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ดี จะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2561 อีกทั้งศักยภาพในการส่งออกของไทยและการกระจายตัวสู่ตลาดส่งออกใหม่ๆ จะช่วยลดทอนความเสี่ยง และสนับสนุนให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ในประเด็นความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงอยู่เป็นระยะเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทและ
รักษารายได้การส่งออกในรูปเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม