‘สุชาติ’ ส่งที่ปรึกษารัฐมนตรี ลุยสมุทรสงคราม สมุทรสาคร ส่งเสริมอาชีพแรงงานอิสระ สร้างรายได้ มีหลักประกันที่มั่นคง

รัฐมนตรีสุชาติ ชมกลิ่น มอบหมายให้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร เยี่ยมและให้กำลังใจกลุ่มแรงงานนอกระบบ ประชุมหัวหน้าส่วนในสังกัด รับฟังข้อมูลการขับเคลื่อนนโยบายด้านแรงงาน ส่งเสริมอาชีพแรงงานอิสระกลุ่มผู้สูงอายุ ให้มีรายได้ที่มั่นคง เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการกระทรวงแรงงานแก่หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสงคราม โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โอกาสนี้ได้ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจติดตามผลการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจร ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันมีสมาชิก 51 คน ในปี 2563 ร่วมบูรณาการฝึกอาชีพเสริมสาขาแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกล้วยน้ำว้า หลักสูตร 18 ชั่วโมง ผ่านการฝึก 23 คน

สำหรับสถานการณ์แรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม มีกำลังแรงงาน 111,868 คน ผู้มีงานทำ 111,075 คน ผู้ว่างงาน 793 คน แรงงานนอกระบบ 58,454 คน แรงงานต่างด้าว 16,418 คน มีสถานประกอบการในระบบประกันสังคม 1,564 แห่ง ผู้ประกันตน 21,068 คน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 323 บาทต่อวัน จ่ายวินิจฉัยประโยชน์ทเแทนกรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยโควิด -19 จำนวน 4,803 ราย เป็นเงิน 45,578,791.80 บาท

ในช่วงบ่าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ เป็นประธานการประชุมเพื่อมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการกระทรวงแรงงานแก่หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ ห้องประชุมสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร โดยที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในด้านต่างๆ ให้กับผู้ใช้แรงงาน สถานประกอบการ และประชาชนทั่วไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงแรงงานตามที่ท่านรัฐมนตรีได้มอบไว้ ในวันนี้จึงขอเน้นย้ำในประเด็นต่าง ๆ อีกครั้ง ได้แก่ 1) การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 2) การแก้ปัญหาในแนวทางที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนการจ้างงานออกกฎหมายการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ 3) การสร้างแรงจูงในการทำงาน โดยการยกระดับทักษะฝีมือแรงงงานให้ได้มาตรฐานสากล มีมาตรฐานสากล มีมาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน 4) การติดตามผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Co – Payment) ทั้งนี้ ในระดับจังหวัดขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันทำงาน ติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจำนวนแรงงานและสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 เพื่อจะได้ช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู และขอให้แรงงานจังหวัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในทุกด้านทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการ การจัดทำข้อมูลแรงงานในระดับจังหวัด การบูรณาการทำงานกับหน่วยงานในจังหวัดและภาคีเครือข่าย รวมทั้งอาสาสมัครแรงงาน เป็นตัวเชื่อมประสานการให้บริการของกระทรวงแรงงานสู่ชุมชน

จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มแรงงานนอกระบบ “กลุ่มประดิษฐ์เรือประมงจำลอง” โดยมีนายชัชวาล ชาวสมุทร ประธานกลุ่ม และสมาชิกจำนวน 15 คน ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์เรียนรู้การประดิษฐ์เรือประมงจำลอง เลขที่ 65/4 หมู่ 5 ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร สำหรับกลุ่มดังกล่าวเริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 โดยการรวมกลุ่มคนรักษ์เรือ 7 คน ตั้งกลุ่มผลิตเรือประมงจำลองจากไม้เพื่อทำเป็นอาชีพเสริม อาทิ เรือประมงอวนลาก ประมงอวนล้อมจับ และเรือประมงพื้นบ้าน แต่ละลำใช้เวลาทำประมาณ 10-14 วัน จำหน่ายลำละ 3,000-4,000 บาท ปัจจุบันได้ยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านการใช้อัตลักษณ์ทางภูมิปัญญามาพัฒนาเป็นอาชีพ โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประดิษฐ์เรือประมงจำลองให้กับกลุ่มผู้สนใจ เช่น กลุ่มผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และเยาวชนในพื้นที่

ทั้งนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมบูรณาการส่งเสริม พัฒนาอาชีพ รายได้ ทุน ความรู้ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และการสร้างหลักประกันทางสังคม ได้แก่ การจัดอบรมเพิ่มทักษะฝีมือหลักสูตร 30 ช.ม. มีสมาชิกกลุ่มฯ เข้ารับการอบรม จำนวน 20 คน ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการกลุ่ม การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การรับงานไปทำที่บ้าน ให้การส่งเสริมให้คนพิการได้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 1 คน ให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม การป้องกันอันตรายเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือต่าง ๆ และความรู้ด้านอาชีวอนามัยเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนอริยบทในการทำงาน และให้ความรู้เกี่ยวสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคม ม. 40 ในทางเลือกต่าง ๆ เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันมีกำลังแรงงาน 717,310 คน ผู้มีงานทำ 706,841 คน ว่างงาน 10,468 คน แรงงานนอกระบบ 188,226 คน ภาคการเกษตร 62,421 คน นอกภาคการเกษตร 125,805 คน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 331 บาท มีสถานประกอบการในระบบประกันสังคม 11,686 แห่ง ลูกจ้างมาตรา 33 จำนวน 442,821 คน มาตรา 39 จำนวน 37,607 คน และมาตรา 40 จำนวน 45,776 คน แรงงานต่างด้าว 281,121 คน มีผู้ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด – 19 จำนวน 22,865 คน จำนวนเงิน 181,498,389.75 บาท