“พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” โดย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค

“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์เด็กจมน้ำของประเทศไทย (อายุต่ำกว่า 15 ปี)  ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–16 ต.ค. 2561 พบเด็กจมน้ำ 68 เหตุการณ์ บาดเจ็บ 58 ราย เสียชีวิต 97 ราย กลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ 5-9ปี รองลงมาคือ 10-14ปี ช่วงเวลาที่เสียชีวิตสูงสุดคือ 15.00-18.00 น. สถานที่เกิดเหตุสูงสุดคือแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนจุดเกิดเหตุส่วนใหญ่พบว่าตกน้ำ/จมน้ำในสระน้ำและคลองน้ำ รองลงมาคือทะเลและแม่น้ำ   จากข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2551-2560) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 957 คนต่อปี หรือวันละเกือบ 3 คน สูงสุดคือช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม รองลงมาคือเดือนตุลาคม เพราะตรงกับช่วงปิดเทอม”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม ประกอบกับบางพื้นที่ยังมีฝนตก เด็กๆ มักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงอาจมีเหตุการณ์ที่เด็กตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิตได้  กรมควบคุมโรค ขอแนะนำผู้ปกครองให้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง และขอให้ทุกชุมชนดำเนินการ ดังนี้

1.สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน  2.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน เช่น ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง  3.จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง (ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้) และ 4.สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น   หากพบคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น  และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค