กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ คลอรีนในน้ำประปาปลอดภัย นำมาบริโภค หุงต้มอาหารได้ แนะเพิ่มความมั่นใจโดยตั้งทิ้งไว้หรือกรองน้ำก่อนใช้เพื่อลดกลิ่นคลอรีน
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า คลอรีนในน้ำประปาไม่เป็นอันตรายที่มีกลิ่น เพราะมีคลอรีนตกค้างในน้ำประปาซึ่งจะต้องมีปริมาณคงเหลือเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจหลงเข้าสู่ระบบเส้นท่อตั้งแต่ โรงผลิตน้ำจนถึงบ้านผู้ใช้น้ำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับและได้กำหนดให้มีคลอรีนคงเหลือในน้ำประปาไว้ 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเฉพาะในหน้าแล้งที่อาจมีกลิ่นคลอรีนแรงมากกว่าปกติ เนื่องจากมีการเพิ่มปริมาณคลอรีนเพื่อป้องกันโรคระบาดที่กังวลว่าคลอรีนอาจเกิดปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำ ทำให้เกิดสารไตรฮาโลมีเทนที่เป็นสารก่อมะเร็งนั้น ซึ่งในความเป็นจริงระบบประปามีการควบคุมปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำประปาโดยให้มีความขุ่นไม่เกิน 5 NTU และมีการเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพน้ำดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตน้ำประปาและคุณภาพน้ำประปาอยู่เป็นประจำจึงทำให้โอกาสที่จะเกิดสารไตรฮาโลมีเทนในน้ำประปามีน้อยมาก
“ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจในการบริโภคน้ำประปา ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบคุณภาพความสะอาดของน้ำได้โดยเปิดน้ำใส่ภาชนะ และสังเกตว่าต้องใส ไม่มีตะกอน หากมีกลิ่นคลอรีนแสดงว่าน้ำได้ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว ให้ตั้งทิ้งไว้นาน 20–30 นาที กลิ่นคลอรีนจะจางหายไป และเพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจให้มากยิ่งขึ้น ก่อนดื่มควรเปิดน้ำประปารองใส่ตุ่มพักไว้ ลดกลิ่นคลอรีน หากไม่มั่นใจในความสะอาดอาจจะนำไปต้มจนเดือด นาน 3-5 นาที จะทำให้น้ำสะอาด แต่ปัจจุบันประชาชนนิยมใช้เครื่องกรองน้ำผ่านการกรองชั้นถ่านเพื่อดูดกลิ่น และผ่านสารเรซินเพื่อลดความกระด้าง และนำไปฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยการผ่านแสงอัลตราไวโอเลตหรือแก๊สโอโซน ทำให้ปลอดภัยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องทำความสะอาดเครื่องกรองน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดีในการกรองน้ำและไม่เป็น แหล่งสะสมของเชื้อโรคเนื่องจากบางครัวเรือนที่ยังมีการใช้ท่อที่เป็นเหล็กอยู่ เมื่อใช้งานไปในระยะเวลานานอาจมีคราบสนิมเกาะในบริเวณท่อและหลุดออกมาปนเปื้อนในน้ำ ทำให้เสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ