กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำชับพนักงานตรวจแรงงานประจำศูนย์ PIPO 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการตรวจแรงงานอย่างเคร่งครัด เน้น 3 ประเด็นสำคัญ ตรวจเอกสารเรือทุกลำ สัมภาษณ์นายจ้างลูกจ้าง และตรวจในเรือ พร้อมสร้างความเข้าใจกฎหมายนายจ้าง ลูกจ้าง
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้จัดส่งพนักงานตรวจแรงงานไปประจำ ณ ศูนย์การแจ้งเรือเข้าออก (Port in – Port out) หรือ PIPO ซึ่งตั้งอยู่ ใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวม 85 ศูนย์ ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเล ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงให้พนักงานตรวจแรงงานที่ประจำศูนย์ PIPO ทั้ง 85 ศูนย์ สามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้กำชับให้ปฏิบัติตาม แนวปฏิบัติการตรวจแรงงานในกิจการประมงทะเล และต่อเนื่องประมงอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเน้นประเด็น 3 สำคัญคือ ต้องตรวจเอกสารประจำเรือทุกลำ อาทิ สัญญาจ้าง ทะเบียนลูกจ้าง หลักฐานการจ่ายค่าจ้าง เป็นต้น, การสัมภาษณ์นายจ้าง ลูกจ้าง จะต้องแยกสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง รวมทั้งตรวจสภาพความเป็นอยู่ในเรือด้วยว่ามีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล อาหาร น้ำ ยารักษาโรคเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้สังเกตรูปลักษณ์ของแรงงานด้วยหากสงสัยว่าอาจเป็นแรงงานเด็กให้ส่งตรวจมวลกระดูกทันที
อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากการตรวจคุ้มครองแรงงานแล้ว กสร. ยังได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานให้กับนายจ้าง ลูกจ้างในกิจการประมงทะเลด้วย เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เข้าใจในหลักการที่ถูกต้อง รวมถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย และปฏิบัติตามให้สอดคล้อง กับกฎหมาย เป็นเรือประมงที่มีการใช้แรงงานที่ถูกต้อง เพื่อให้ประเทศไทยปลอดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ