รักษาราชการอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยทิศทางการดำเนินงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานปีงบประมาณ 2562 เน้นสอดคล้องนโยบายเน้นหนักกระทรวงแรงงาน ประสานเครือข่ายตามแนวทางประชารัฐ มุ่งยกระดับคุ้มครองแรงงานทั้งระบบ ขับเคลื่อน Safety Thailand สนันสนุนแรงงานสูงอายุ ผู้พิการ แรงงานพื้นที่ EEC และพัฒนางานเพิ่มประสิทธิภาพ
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยทิศทางการดำเนินงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในปีงบประมาณ 2562 กสร.จะขับเคลื่อนงานสอดรับนโยบายเน้นหนักของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยได้รับประเมินจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในรายงาน TIP Report ในระดับ Tier 2 หรือเลื่อนขึ้นเป็นระดับ Tier 1 และได้รับการประเมินจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ในรายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปี 2561 อยู่ในระดับความสำเร็จสูงสุด (Significant Advancement) เท่ากับปี 2560 และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายหมดสิ้นไปจากประเทศไทยภายในปี 2563 ซึ่งจะมุ่งเน้นการยกระดับการคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น การพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และตรวจคุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะกิจการกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ แรงงานประมงทะเล แรงงานเด็กในทุกกิจการ และแรงงาน นอกระบบ นอกจากนี้กสร. ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการสำรวจสถานการณ์เด็กทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินการอย่างเป็นมาตรฐาน โดยจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากนั้นจะนำข้อมูล ที่ได้ไปจัดทำแผนปฏิบัติการในการคุ้มครองแรงงานเด็กมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายแรงงานมีความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี ตามนโยบาย Safety Thailand จะเน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนตามกลไกประชารัฐสร้างการรับรู้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ อัตราการประสบอันตรายจากการทำงานลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ กสร.ยังให้ความสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำ กำกับดูแลให้นายจ้างปฏิบัติต่อแรงงานกลุ่มนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงส่งเสริมการจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายด้วย อีกทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการด้านแรงงานในพื้นที่ EEC ส่งเสริมการจัดสวัสดิการแรงงานแบบยืดหยุ่นให้สถานประกอบกิจการนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดสวัสดิการที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกจ้าง เพื่อสร้างแรงจูงใจและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาแรงงานสัมพันธ์ในกิจการกลุ่มเสี่ยง นโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ กสร. ได้กำหนดแนวทางพัฒนาการบริหารงานทั้งในเชิงวิชาการและการบริหารงานบุคคลเพื่อให้เป็นทิศทางเดียวกันนโยบายของกระทรวงแรงงาน โดยพัฒนาและปรับปรุงข้อมูล
ให้เป็นปัจจุบัน เชื่อมโยงกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริหารจัดการ ในการคุ้มครองแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิจัยด้านแรงงาน ทั้งในและนอกระบบเพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูล รวมไปถึงพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ ทักษะและเจตคติที่ดี ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการจัดสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ กสร.จะเน้นทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงเครือข่ายแรงงานด้านต่าง ๆ ในรูปแบบไตรภาคี เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบทบาทภารกิจของกรม มุ่งเน้นเชื่อมโยงฐานข้อมูล ลดช่องว่างและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเป้าหมายให้มีผลิตภาพแรงงานที่ดีนำไปสู่เสถียรภาพในการจ้างงาน และแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไป
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –