“โจทย์ใหญ่ที่ สสส. ตั้งใจทำ คือ สร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เด็กที่พิการมีความเท่าเทียมในสังคม แม้ร่างกายของเขาจะแตกต่าง แต่ศักยภาพและทักษะของคนกลุ่มนี้ล้ำเลิศไม่แพ้กับเด็กทุกคน” คำกล่าวของ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่กล่าวถึงความสำคัญและโอกาสทางการศึกษาของเด็กพิการ ในงานเด็กพิการเรียนไหนดี 64 “ปั้นฝันเป็นตัว” ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว
หลายครั้งที่พ่อแม่ หรือครอบครัวที่มีเด็กพิการ กังวลว่าลูกจะเรียนต่อที่ไหนดี จะมีสถานศึกษาไหนบ้างที่ยินดีและเปิดรับเด็กพิการเข้าศึกษาต่อ อนาคตของลูกจะได้ทำตามความฝันไหม นับเป็นปัญหาที่หลายครอบครัวต้องพบเจอ เพื่อให้เด็กพิการได้ค้นหาตัวเองว่าอยากทำอาชีพอะไร วางแผนการเรียนในสาขาที่เหมาะสม ได้เรียนรู้เส้นทางการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ทั้งสถาบันอุดมศึกษาระบบปิดและเปิด เรียนรู้เทคนิคการสอบและการเรียนในมหาวิทยาลัย รวมถึงเส้นทางในการประกอบอาชีพในอนาคต สสส. จึงได้ร่วมกับ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด และภาคีเครือข่ายจัดงานเด็กพิการเรียนไหนดี 64 ตอนปั้นฝันเป็นตัวขึ้น และเป็นมหกรรมแนะแนวการศึกษาสำหรับเด็กพิการแห่งเดียวในประเทศไทย
นางภรณี กล่าวว่า สถานการณ์คนพิการในประเทศไทย มีเด็กพิการที่สามารถเรียนต่อได้ประมาณ 1.5 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้จะมีคนพิการที่สามารถเรียนจบในระดับอุดมศึกษาแค่ 2.1 หมื่นคนเท่านั้น ซึ่งจำนวนนี้สะท้อนให้เห็นช่องว่างทางการศึกษาของประเทศไทย ที่มีอุปสรรคทำให้เด็กพิการที่ต้องการจะเรียนต่อไม่สามารถจะเรียนต่อได้ งานเด็กพิการเรียนไหนดี 64 ตอน “ปั้นฝันเป็นตัว” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นทางเลือกให้กับเด็กพิการว่าสามารถจะศึกษาในมหาวิทยาลัยไหนได้บ้าง สาขาไหนได้บ้าง
“ทุกคนมีความฝัน มีสิทธิ์ที่จะฝัน การแนะแนวการศึกษาให้กับผู้พิการในงานนี้ เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เกิดหนทางในการศึกษาต่อให้ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เด็กพิการจะประเมินทักษะความสามารถของตนเองได้ รวมถึงมหาวิทยาลัย และสาขาที่จะเลือกเข้าเรียนด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยทั้ง 18 แห่งที่เข้าร่วมงานนี้ มีความพร้อมและเปิดโอกาสให้เด็กพิการได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม
สสส. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่จะเข้าไปสนับสนุน ลดช่องว่าง ลดอุปสรรคในการเรียนของน้อง ๆ ที่เป็นเด็กพิการ ให้มีโอกาสได้เรียนในสาขาต่าง ๆ ได้มากขึ้น และพยายามส่งเสริมเพิ่มทักษะให้เด็กพิการทุกคนได้รับการโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป ด้วยการสร้างความรู้ที่ตรงกับศักยภาพของคนพิการ การสร้างอาชีพที่รองรับกับผู้พิการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีโดยที่ไม่รู้สึกแตกต่างจากคนอื่น” นางภรณี กล่าว
น้องหยก นางสาวอมรทิพย์ นิธิชัชวาลกุล จากโรงเรียนเขาย้อยวิทยา อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ดีใจที่ได้มาร่วมงานนี้ อยากให้มีกิจกรรมดี ๆ แบบนี้สำหรับคนพิการอีก หลังจากที่ได้มาร่วมงาน คนพิการเรียนไหนดี 64 ได้เรียนรู้การเขียน Portfolio ให้น่าสนใจ การดูแลบุคลิกภาพ การแนะนำตัวเวลาสัมภาษณ์ และวิธีการเตรียมตัวว่าต้องทำอะไรบ้างในการเข้าศึกษาต่อ และการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่สามารถนำไปปรับใช้ได้
“ความฝันของหนูอยากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษค่ะ เพราะว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สำคัญ การเป็นครูคืออาชีพที่ได้บุญ ได้ให้ความรู้ ตั้งใจว่าอยากจะเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และอยากให้ผู้พิการทุกคนคิดว่าไม่มีสิ่งไหนที่เราทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างไม่เกินความสามารถของเรา” น้องหยก กล่าว
18 มหาวิทยาลัยที่มาร่วมเปิดบูธแนะแนวการศึกษาต่อของเด็กพิการ ภายในงานมีที่ไหนบ้าง
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยสยาม
- วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
- มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
- วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการราชดำเนิน
- วิทยาลัยเทคนิคบางแสน
- มหาวิทยาลัยเซาท์อีสกรุงเทพ
ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัย 18 แห่งนี้เท่านั้น แต่ละมหาวิทยาลัยทั่วประเทศยังรับเด็กพิการเข้าศึกษาต่ออีกด้วย
เพราะการศึกษา คือ รากฐานสำคัญของชีวิต สสส. และภาคีเครือข่ายพร้อมขับเคลื่อนส่งเสริมการศึกษาเพื่อคนพิการ สนับสนุนให้คนพิการมีสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ทางปัญญาการเรียนรู้ และด้านสังคม มีสิทธิเท่าเทียมอย่างเสมอภาค เพื่อให้คนพิการพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งานเด็กพิการเรียนไหนดี 64 “ปั้นฝันเป็นตัว”