ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของสถาบัน WEF (World Economic Forum) ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 พบว่าประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับ 40 เมื่อปี 2560 มาอยู่ในอันดับที่ 38 จากทั้งหมด 140 ประเทศทั่วโลก โดยการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน WEF ได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์และวิธีการคำนวณใหม่เป็น World Economic Forum: Global Competitiveness Index หรือGCI 4.0 เพื่อให้สอดคล้องกับเข้าสู่ยุค Industry Revolution 4.0 หรือการปฏิบัติวัติอุตสาหกรรม 4.0 ของโลกมากขึ้น
วันที่ 18 ตุลาคม 2561: กรมทรัพย์สินทางปัญญา – นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยสถาบัน WEF ประจำปี 2561 ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 38 จากทั้งหมด 140 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 3 เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มอาเซียน (รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย) โดยในปีนี้ WEF ได้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์และวิธีการคำนวณใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 และกำหนดปัจจัยหลักและตัวชี้วัดสำคัญในการจัดอันดับเปรียบเทียบในภาพรวมของความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศที่ปรากฏใน GCI 4.0 ประกอบด้วย 98 ตัวชี้วัด แบ่งเป็น 12 ด้าน
โดยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ WEF ในปี 2561 มีตัวชี้วัด ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา อยู่ในอันดับที่ดีขึ้นทั้ง 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) ตัวชี้วัด Intellectual property protection อยู่ในอันดับ 99 จากอันดับ 106 ดีขึ้น 7 อันดับ (2) การยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของคนไทยในต่างประเทศต่อประชากรหนึ่งล้านคน (Patent applications /million pop.) อยู่ในอันดับ 68 จากอันดับ 76 ดีขึ้น 8 อันดับ โดยยื่น คำขอจดสิทธิบัตรในต่างประเทศกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา (IP5) 2 ใน 5 แห่ง ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น (JPO) จีน (SIPO) เกาหลีใต้ (KIPO) สหรัฐอเมริกา (USPTO และสหภาพยุโรป (EPO) และ (3) การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของคนไทยในต่างประเทศต่อประชากรหนึ่งล้านคน (Trademark applications/million pop.) อยู่ในอันดับ 67 จากอันดับ 74 ดีขึ้น 7 อันดับ
ความสำเร็จจากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสถาบัน WEF ประจำปี 2561 ในตัวชี้วัดความสามารถด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของประเทศไทยในการก้าวสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม อันเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยทั้งในด้านส่งเสริม คุ้มครอง และการป้องกันและปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาไปสู่การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง โดยการผลักดันให้สหรัฐอเมริกาได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ให้ดีขึ้นจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) หลังจากที่ไทยอยู่ในบัญชี PWL มาเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 – 2560 การปรับปรุงประสิทธิภาพการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มข้าราชการใหม่ให้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 120 คน ในระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2561 การสนับสนุนงบประมาณพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบาย THAILAND 4.0 ของรัฐบาล
———————————————-