ห้องเรียนสู้ฝุ่น พลังหนุนพลเมืองตื่นรู้

“เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง ผดุงวัฒนธรรม รสล้ำข้าวสาร หอมหวานลิ้นจี่ สตรีโสภา ชาเลิศรส สับปะรดนางแล แหล่งแพร่ปลาบึก” คำขวัญของจังหวัดเชียงราย จังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยยอดเขาสูง พืชพรรณธรรมชาตินานาชนิด และมีอากาศค่อนข้างเย็นตลอดปี

เนื่องจากเชียงรายเป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคเหนือ จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ที่มีต้นกำเนิดสำคัญจากการเผาพื้นที่เกษตรและไฟป่าในภาคเหนือ รวมทั้งในประเทศเมียนมาร์และประเทศลาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเผาซากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกรอบต่อไป

จากรายงานกรมควบคุมโรคที่ 10 พบว่า วันที่ 15 มีนาคม จนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2550 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการในสถานพยาบาลในสังกัด 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน และกาญจนบุรี ทั้งหมด 57,765 ราย เฉลี่ยวันละ 7,220 ราย กว่าร้อยละ 90 เป็นโรคทางเดินหายใจทั่ว ๆ ไป อาการไม่รุนแรง โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดเชียงราย ลำพูน และเชียงใหม่ตามลำดับ

จากปัญหาดังกล่าวทำให้เชียงรายเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างสูง จนทำให้มีผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจมากที่สุด และเชียงรายยังขาดเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้

ด้วยการตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหานี้จากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเกิดความร่วมมือเพื่อสร้างโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน หรือ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละออง เตรียมรับมือสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กและเยาวชน โดยเริ่มจากนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4 -ป.6) และขยายผลต่อยอดไปยังระดับชั้นอื่น ๆ โดยมุ่งหวังสร้างพื้นที่ต้นแบบในโรงเรียนในการรับมือฝุ่นในพื้นที่วิกฤต เป็นการสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์วิกฤต สามารถปกป้อง ดูแลตนเอง และส่งต่อความรู้ที่ได้รับให้กับคนในครอบครัวได้อย่างทันท่วงที ก่อให้เกิดความร่วมมือในชุมชนและท้องถิ่น เกิดทักษะในการปรับตัว และการสื่อสารสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองในสถานการณ์วิกฤตด้านฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของตนเอง และคนในชุมชนต่อไป

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญเรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดการพื้นที่สภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการมลพิษจากระบบขนส่งมวลชน การเผาในที่แจ้ง และการทำงานระหว่างชุมชน โดยเน้นไปที่การจัดการพื้นที่ให้พร้อมรับกับปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การติดอาวุธในเชิงพื้นที่ เสริมพลังให้กับทีมทำงานในท้องถิ่น การเน้นไปที่เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นจุดคานงัดสำคัญที่จะทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลให้กับครอบครัว และชุมชนต่อไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขาโดยตรง

“สสส.จึงสนับสนุนให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สำรวจและออกแบบหลักสูตรเสริมการรับมือกับฝุ่นสภาวะวิกฤต (ห้องเรียนสู้ฝุ่น) สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย โดยให้ความรู้ในการรับมือกับฝุ่น PM2.5 และสร้างจิตสำนึกการไม่ก่อให้เกิดไฟ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานจากกิจกรรมเสริมหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการ จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้” นายชาติวุฒิ กล่าว

นายชาติวุฒิ กล่าวต่อว่า ในอนาคตจะมีการนำหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่นขยายผลต่อยอดไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่ประสบปัญหา เช่น จังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการขยายผลสู่การเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เปิดให้ทุกหน่วยงานที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

โครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละออง (ห้องเรียนสู้ฝุ่น) ประกอบด้วยเนื้อหากิจกรรมบูรณาการเสริมหลักสูตรทั้งหมด 10 แผน ตัวอย่างแผนกิจกรรมที่สำคัญ คือ เครื่องวัดระดับฝุ่น PM 2.5 (ยักษ์ขาว) และระบบธงสุขภาพในโรงเรียน

1.เครื่องวัดระดับฝุ่น PM2.5 : ยักษ์ขาว

เครื่องวัดระดับฝุ่น PM2.5 (ยักษ์ขาว) เป็นเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก ที่จะทำการวัดค่าฝุ่นแบบทันทีทันใด (Real Time) นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่เป็นแอปพลิเคชันสำหรับติดตามค่าฝุ่น  PM2.5 แบบสถานการณ์ปัจจุบันที่เชื่อมโยงเครือข่ายสถานีวัดฝุ่นของโรงเรียนในเครือข่าย สามารถดูข้อมูลฝุ่น สถานีใกล้บ้าน ดูแนวโน้มค่าฝุ่นพร้อมคำแนะนำแจ้งเตือน และแนวทางป้องกันเพื่อสุขภาพที่ดี สามารถใช้งานได้ง่าย และสะดวกคู่กับระบบธงสุขภาพ สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ Android และ iOS

2.ระบบธงสุขภาพในโรงเรียน

ธงสุขภาพ คือ ธงสีต่าง ๆ ที่แจ้งเตือนระดับคุณภาพอากาศของภัยฝุ่น PM 2.5 มีทั้งหมด 5 สี ตามระดับค่าฝุ่น PM 2.5 (หน่วย มคก./ลบม.) ที่เทียบกับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ ตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ

สีฟ้า – มีค่า PM2.5 ระหว่าง 0- 25 สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ปกติ

สีเขียว – มีค่า PM2.5 ระหว่าง 26-37  สามารถกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ

สีเหลือง – มีค่า PM2.5 ระหว่าง 38-50 ผู้ป่วยควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง

สีส้ม – มีค่าฝุ่นPM2.5 ระหว่าง 51- 90  ลดกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมหน้ากากอนามัย

สีแดง – มีค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 91  ขึ้นไป ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกัน และอยู่ในห้องที่ปลอดภัย

ในโรงเรียนจะมีเสาธงสุขภาพตั้งอยู่ และจะมีนักเรียนที่เป็นเวรประจำวัน คอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเปลี่ยนธงสีต่าง ๆ เมื่อค่าอากาศเปลี่ยนในเวลาเช้า พักเที่ยง และเย็น

ระบบธงสุขภาพในโรงเรียนจึงมีความจำเป็นสำหรับนักเรียนในการเตรียมรับมือสู้กับภัยฝุ่น PM2.5 เพื่อให้นักเรียนปลอดภัยจากภัยฝุ่น PM2.5

ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล ผู้จัดการโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น กล่าวว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาไฟป่าและ หมอกควันมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่จากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่า คนในพื้นที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงพิษภัย และอันตรายจากภาวะวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ดังนั้น จึงคิดว่าหากนำเอาความรู้เหล่านี้เข้าไปในห้องเรียน จะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก

“ กิจกรรมเสริมหลักสูตร “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” นี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการเรียนการสอนในทุกวิชา จากการนำไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง คือ โรงเรียนบ้านผาเดื่อ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และโรงเรียนเจดีย์หลวงพิทยา  ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เคยประสบกับปัญหาฝุ่นควัน จนต้องหยุดทำการเรียนการสอนเป็นเวลานาน พบว่า เด็ก ๆ เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ให้ความสนใจ และตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น” ผศ.ดร.นิอร กล่าว

ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ แต่เป็นปัญหาใหญ่ ที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องและยาวนาน สสส. มีความเชื่อมั่นว่าการผลักดัน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยเริ่มจากพลังเล็ก ๆ ของเด็กและเยาวชน จะค่อย ๆ ขยายผลเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ที่สร้างความมั่นคงและแข็งแรงในการป้องกันและแก้ไขภาวะวิกฤตนี้ได้ รวมทั้งสร้างค่านิยมใหม่ สู่การพัฒนาชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดมลภาวะ สร้างอากาศสะอาดและสังคมไร้มลพิษได้อย่างยั่งยืน

…………………………………………..

ที่มา: www.thaihealth.or.th