กระทรวงแรงงาน เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องหารือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมเตรียมแผนรองรับแรงงานไทยกลับประเทศ โดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือดูแลแรงงานที่สาธารณรัฐเกาหลีและประเทศไทย จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับในประเทศกว่า 60,000 อัตรา ต่างประเทศกว่า 40,000 อัตรา รวมทั้งจัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะด้านภาษาเกาหลีให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกด้วย
วันที่ 18 ตุลาคม 2561 ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กงสุลเกาหลีประจำประเทศไทย สำนักงาน HRD korea สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว เป็นต้น ร่วมประชุม
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อรับทราบความคิดเห็น แนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะ เพื่อบูรณาการ และสร้างความร่วมมือเตรียมพร้อมเรื่องการรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี และเตรียมการขยายตลาดแรงงานใน 3 ประเด็น คือ 1) มาตรการรองรับแรงงานที่สมัครใจกลับประเทศ การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่แรงงานไทยที่จะสมัครใจรายงานตัวกลับประเทศ 2) การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 3) การสร้างความร่วมมือในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการลักลอบไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี โดยกระทรวงแรงงานมีแผนการดำเนินการ ดังนี้ 1. การรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี โดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือดูแลแรงงานในสาธารณรัฐเกาหลีพร้อมประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลีเข้าร่วมโครงการ ตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี ณ ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ และด่านตรวจคนหางานดอนเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือตามความประสงค์ของแรงงานไทยแต่ละราย และตั้งศูนย์จัดหางานเพื่อเตรียมตำแหน่งงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งจัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะด้านภาษาเกาหลีให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกด้วย
ขณะนี้มีตำแหน่งงานรองรับในประเทศจำนวน 62,174 อัตรา มี 10 อันดับงานได้แก่ งานธุรการ งานอื่นๆ บัญชี การขาย จัดซื้อ บุคคล/ฝึกอบรม ท่องเที่ยว และคอมพิวเตอร์/ไอ ที ตำแหน่งงานต่างประเทศ 45,000 อัตรา แบ่งเป็นแถบเอเชีย 30,000 อัตรา ได้แก่ ไต้หวัน 15,000 อัตรา สาธารณรัฐเกาหลี 6,000 อัตรา ญี่ปุ่น 5,000 อัตรา และประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง/มาเก๊า 4,000 อัตรา แถบตะวันออกกลาง 5,500 อัตรา ได้แก่ อิสราเอล 5,000 อัตรา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และคูเวต 500 อัตรา แถบยุโรป 7,000 อัตรา ได้แก่ สวีเดน 3,000 อัตรา ฟินแลนด์ 2,000 อัตรา ประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ โปรตุเกส รัสเซีย 2,000 อัตรา นอกจากนั้นยังมีแถบอื่นๆ เช่น แอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลียและโอเชียเนีย เป็นต้น อีก 2,500 อัตรา ได้แก่ แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ 2,500 อัตรา 2. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยขอเพิ่มโควตาในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้โครงการ EPS จากเดิม 5,000 อัตรา เพิ่มเป็น 15,000 อัตรา ขอขยายอายุของแรงงานไทยจากเดิมไม่เกิน 39 ปี เป็นไม่เกิน 45 ปี ขอให้ทางการสาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มสัดส่วนการคัดเลือกแรงงานหญิงไทยเข้าไปทำงานมากขึ้น ขอขยายระยะเวลาการทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ที่เดิม 9 ปี 8 เดือน เป็น 14 ปี (ทำงานได้ครั้งละ 4 ปี 8 เดือน สามารถเดินทางไป-กลับ ได้ 3 รอบ) และขอลดขั้นตอนระยะเวลาการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม (CID) 3. การป้องกันการลักลอบไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี โดยจัดตั้งทีมเฝ้าระวังและตอบโต้ เฟสบุ๊ค/ไลน์/เว็บไซต์ และใช้สายตรวจออนไลน์คอยตรวจสอบผู้ที่มีพฤติกรรมหลอกลวง หรือลักลอบส่งคนหางานไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี และจัดตั้งชุดเฝ้าระวังที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง
รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานไทยลักลอบเดินทางไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเข้มงวดและจริงจัง เพราะเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับค่าจ้างสูงประมาณ 55,844 บาทต่อเดือน และนายจ้างเกาหลีมีความต้องการจ้างแรงงานไทย เนื่องจากมีฝีมือและมีวินัย โดยมีนโยบายให้การดูแลแรงงานไทยทั้งหมดไม่ว่าถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย มีการเตรียมการให้แรงงานใหม่ตอบโจทก์ความต้องการของนายจ้างเกาหลี พร้อมทั้งดำเนินมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการลักลอบทำงานหรือถูกหลอกไปทำงาน อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยที่ต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศ หรือแจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน