รมว.แรงงาน เคาะมาตรการรองรับแรงงานไทยที่ลักลอบไปทำงานกลับจากเกาหลีใต้ ตั้งศูนย์รองรับที่ด่านตรวจคนหางานสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ อำนวยความสะดวกการเดินทางกลับจากเกาหลี เตรียมตำแหน่งงานว่างทั้งในและต่างประประเทศรองรับกว่า 1 แสนอัตรา เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งแรงงานกลุ่มใหม่ที่จะเดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมาย พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเฝ้าระวังการลักลอบไปทำงาน เข้มดำเนินการทางกฎหมายกับผู้มีพฤติกรรมหลอกลวง
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานกงสุลเกาหลีประจำประเทศไทย สำนักงาน HRD korea สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว เป็นต้น
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อรับฟังความคิดเห็น แนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะ ตลอดจนการบูรณาการเพื่อเตรียมความพร้อมการรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี และเตรียมการขยายตลาดแรงงาน
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีไว้ 3 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการรองรับแรงงานที่สมัครใจกลับประเทศไทย การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่แรงงานไทยที่จะสมัครใจรายงานตัวกลับประเทศ โดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือดูแลแรงงานในสาธารณรัฐเกาหลีพร้อมประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลีรับทราบแนวทางการดำเนินการ ตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี ณ ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ และด่านตรวจคนหางานดอนเมืองซึ่งเปิดดำเนินการได้ภายในสัปดาห์หน้า ตั้งศูนย์จัดหางานเพื่อเตรียมตำแหน่งงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งจัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะด้านภาษาเกาหลีให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาประเทศไทย ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งเตรียมตำแหน่งงานรองรับในประเทศจำนวน 62,174 อัตรา ตำแหน่งงานต่างประเทศ 45,000 อัตรา
นอกจากนี้ ยังมี 2) มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยขอเพิ่มโควตาในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้โครงการ EPS จากเดิม 5,000 อัตรา เพิ่มเป็น 15,000 อัตรา ขอขยายอายุของแรงงานไทยจากเดิมไม่เกิน 39 ปี เป็นไม่เกิน 45 ปี ขอให้ทางการสาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มสัดส่วนการคัดเลือกแรงงานหญิงไทยเข้าไปทำงานมากขึ้น ขอขยายระยะเวลาการทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ที่เดิม 9 ปี 8 เดือน เป็น 14 ปี (ทำงานได้ครั้งละ 4 ปี 8 เดือน สามารถเดินทางไป-กลับ ได้ 3 รอบ) และขอลดขั้นตอนการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และ 3) มาตรการป้องกันการลักลอบไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี โดยร่วมมือกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ สมาคมการท่องเที่ยว สายการบิน สำนักงาน ป.ป.ง. ดำเนินการติดตามตรวจสอบผู้ที่มีพฤติกรรมหลอกลวงทางสื่อโซเซียล รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจคนหางานภายในสนามบินให้สามารถตรวจตราได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น