โลหิตจาง หรือ ภาวะซีด หลายคนชอบบอกว่าเลือดน้อย เลือดจาง เป็นภาวะที่ร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ โดยทั่วไป ทางการแพทย์จะหมายถึง ภาวะที่ค่าฮีโมโกลบิน (Hb) ต่ำว่า 13 กรัม/เดซิลิตร ในผู้ชาย และ 12 กรัม/เดซิลิตร ในผู้หญิง รวมถึงความเข้มข้นของเลือด (Hct) ต่ำกว่า 39 ในผู้ชาย และ ต่ำกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ ในผู้หญิง ดังนี้จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มที่ภาวะโลหิตจาง
สาเหตุของโลหิตจาง
สาเหตุ ของการเกิดภาวะโลหิตจาง หรือเลือดจาง มักเกิดจากการขาดสารอาหารที่ไปทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น กลุ่มอาหารที่มีธาตุเหล็ก โปรตีน วิตามินบี12 และกรดโฟลิก นอกจากนี้ ในภาวะที่มีการเสียเลือด เช่น โรคกระเพาะอาหาร ถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงทวาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ ร่างกายมีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยไขกระดูกฝ่อ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโลหิตจางได้เช่นกัน
แนวทางการป้องกันโลหิตจาง
การป้องกันโลหิตจาง ที่ไม่ได้เกิดจากภาวะผิดปกติของร่างกาย สามารถเริ่มต้นได้จากการเลือกรับประทานอาหาร ที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดง ที่จะช่วยเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดง และเพิ่มความเข้มข้นของเลือด อีกทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลต่อการดูดซึมของเเร่ธาตุเหล็ก โดยแบ่งเป็นกลุ่มอาหารดังนี้
- อาหารกลุ่มที่มีธาตุเหล็ก โดยปริมาณนี่แนะนำให้รับประทานต่อวันในผู้ชายต้องการ ปริมาณ 10 มิลลิกรัม เเละในผู้หญิง ปริมาณ 12 มิลลิกรัม เช่น ผักใบเขียว ผักโขม กะหล่ำปลี ผักคะน้า บล็อกโคลี หอยนางรม หอยกาบ หอยเชลล์ อาหารทะเล ตับ ปลา
- วิตามินบี 12 มักได้จากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น หอย ปู ปลาทู แซลมอน ทูน่า เนื้อวัว เป็ด ไก่
- กรดโฟลิก เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว วิตามินซีสูง ถั่ว เเละธัญพืช นม
- อาหารโปรตีนสูงๆ พืชตระกูลถั่ว เมล็ดฟักทอง พิตาชิโอ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดทานตะวัน
เลี่ยงการกินกลุ่มชา กาแฟ เนื่องจากเพิ่มการขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก
สมุนไพรที่ช่วยบำรุงเลือด
- ฝาง : ทางการแพทย์แผนไทย ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต แก้ปอดพิการ ขับเสมหะ ขับระดู แก่นฝนกับน้ำเป็นยาทาภายนอกในโรคผิวหนังบางชนิด ฆ่าเชื้อโรค ขับหนอง น้ำต้มแก่นใช้แต่งสีแดงของน้ำยาอุทัย
การศึกษาปัจจุบัน พบว่ามี ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ยับยั้งการสะสมของไขมันบริเวณหลอดเลือด
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานฝาง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฝาง เพราะฝางมีฤทธิ์เป็นยาขับประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้แท้งบุตรได้ ผู้ที่รับประทาน Warfarin, Aspirin , Dipyridamde หรือ Ticlopidine ก็ไม่ควรใช้ฝางเช่นกัน เพราะฝางมีฤทธิ์ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กัน ผู้ที่ภาวการณ์ทำงานของตับและไตผิดปกติควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ การใช้ในขนาดสูงอาจมีผลต่อการทำงานของตับและไต
- ดอกคำฝอย : รสหวานและอุ่น ใช้เป็นส่วนประกอบของยาไทยมานาน ดังปรากฏชื่อดอกคำในคัมภีร์มหา
โชติรัตน์ซึ่งเกี่ยวกับโลหิตสตรี คัมภีร์ชวดารเกี่ยวกับลม และคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกาเกี่ยวกับปัสสาวะและตกขาว เป็นที่รู้กันดีในหมู่หมอยาไทยว่าคำฝอยเป็นยาเลือดของผู้หญิงที่ดีมาก แสดงฤทธิ์ทางเลือดที่หัวใจและตับ รวมทั้งระบบประจำเดือนของผู้หญิง จึงมีสรรพคุณบำรุงโลหิต ฟอกเลือด บำรุงประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยกระจายการอุดตันของเลือด ลดอาการปวดประจำเดือน ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด แก้อาการจุกแน่นบริเวณท้องน้อย ดังนั้นเมื่อมีปัญหาประจำเดือนไม่ปกติ ปวดประจำเดือน การดื่มชาดอกคำฝอยจะช่วยได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์อื่นๆ เช่น ลดไขมันในเลือด ปกป้องหัวใจ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ฤทธิ์ป้องกันตับ ต้านการอักเสบ และเสริมภูมิคุ้มกัน
ข้อห้ามและข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้กับสตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวแห้งได้ การใช้คำฝอยในปริมาณสูงอาจมีผลเสียต่อเซลล์ จึงไม่ควรกินอย่างเข้มข้นเกินไป
- ลูกยอ : รสเผ็ดร้อน ถูกนำมาใช้เป็นเพื่อผู้หญิง โดยเฉพาะกินเพื่อดูแลระบบเลือดลม หรือบำรุงเลือดสตรี
มานาน มีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายหลายชนิด อาทิเช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ไนอาซีน และโปรตีน สอดคล้องกับ สรรพคุณในทางยาไทย ช่วยบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ แก้อาเจียน ขับน้ำคาวปลา ขับระดูเย ฟอกเลือด ฤทธิ์ระบาย
- ทับทิม : ผลไม้ที่อุดมวิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก จึงมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง
บำรุงเลือดวิจัยมาแล้วว่าทับทิมสามารถช่วยกักเก็บเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ พร้อมทั้งมีวิตามินซีสูงจึงช่วยเสริมการดูดซึมธาตุเหล็ก เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน บำรุงผิว บรรเทาอาการโรคหัวใจ ความดันโลหิต และ ลดน้ำตาลในเลือดเพื่อผู้ป่วยเบาหวานได้อีกด้วย
ติดตามสาระสุขภาพกับแพทย์แผนไทยได้ที่
Facebook : สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
คลินิกออนไลน์ : https://lin.ee/47PRVjiFz
ข้อมุลอ้างอิง
- https://www.disthai.com/17136811/%E0%B8%9D%E0%B8%B2%E0%B8%87
- http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=88
- บันทึกของแผ่นดิน 7 มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร