ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลประโคนชัย ดูแลผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุรถพยาบาลส่งต่อโรงพยาบาลประโคนชัยประสบอุบัติเหตุบริเวณถนนบุรีรัมย์-ประโคนชัย ขณะส่งต่อผู้ป่วยไปคลอดที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ มอบรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเยี่ยมครอบครัวและผู้บาดเจ็บ ให้ทุกโรงพยาบาลปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา การเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลอย่างเคร่งครัด
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวพยาบาลที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลประโคนชัยเพื่อส่งผู้ป่วยไปคลอดที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ และเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะ บริเวณถนนบุรีรัมย์-ประโคนชัย เมื่อเวลาประมาณ 22.55 น. ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีค่าของกระทรวงสาธารณสุข รถพยาบาลคันนี้มีผู้ป่วยและญาติ 4 คน พยาบาล 2 คน และพลขับ 1 นาย ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยมอบให้นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ไปดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พร้อมให้กำลังใจ และเยี่ยมครอบครัวและผู้บาดเจ็บ และได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดติดตามอาการผู้บาดเจ็บทุกราย ให้ได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด รวมทั้งให้ติดตามความคืบหน้าของคดี
สำหรับอาการของพยาบาลที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและสงสัยมีกระดูกเชิงกรานหักนั้น ได้รับการผ่าตัด เรียบร้อยแล้ว พักรักษาที่หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม ส่วนผู้ป่วยส่งต่อคลอด อาการแม่ลูกปลอดภัย ด้านสามีผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะกระดูกไหปลาร้าหัก สำหรับคู่กรณีขับรถกระบะได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและมีแผลถลอก ทั้งหมด เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ อาการปลอดภัย ที่เหลือบาดเจ็บเล็กน้อย
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า ในส่วนพยาบาลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ อยู่ระหว่างรอการบรรจุ เบื้องต้นจะได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันอุบัติเหตุ ประกันสังคม เงินช่วยเหลือจากโรงพยาบาล กองทุนเพื่อให้การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ เสียชีวิต ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น ด้านสิทธิอื่นๆ อยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อให้ครอบคลุมทุกสิทธิที่ควรจะได้รับการดูแล
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แม้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาล โดยให้จำกัดความเร็วของรถพยาบาล ใช้ความเร็วเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ไม่เกิน 80 กม./ชม. หรือไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ผู้ขับขี่ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรฝึกอบรม พนักงานขับรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข รถพยาบาลติดตั้งอุปกรณ์ GPS ทุกคันและติดตั้งกล้องวงจรปิด Closed Circuit Television (CCTV) บันทึกภาพ ห้ามขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงในทุกกรณี นายแพทย์สุขุมกล่าว