เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมงานรำลึก ๑๔ ตุลา ประจำปี ๒๕๖๑ จัดโดยเครือข่ายภาคประชาชนและมูลนิธิ ๑๔ ตุลา ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ๑๖ (แยกคอกวัว) โดยได้กล่าวสดุดีเนื่องในวันรำลึก ๑๔ ตุลาคม ประจำปี ๒๕๖๑ ว่าหลักการประชาธิปไตย เป็นพื้นฐานอันสำคัญของสิทธิมนุษยชน หากไม่มีประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะแท้ที่จริงแล้วสิทธิมนุษยชนกับประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่อย่างแยกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค การมีสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งรวมทั้งการสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ตั้งแต่เกิดจนตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกๆ คน
การเคลื่อนไปของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่หมุนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนั้นได้กระทบต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อประชาธิปไตย ทำให้ประชาธิปไตยได้คลาดเคลื่อนไปจากหลักการประชาธิปไตยที่เคยเป็น ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม การเลือกตั้งต้องอยู่บนเจตจำนงเสรีที่แท้จริงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ โดยที่ทุกคนในสังคมมีความเคารพซึ่งกันและกัน มีเหตุผลและยึดมั่นในผลประโยชน์ของส่วนรวม
ประชาธิปไตยในยุคใหม่มีผู้เล่นมากมายที่เข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะผู้เล่นจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยมที่ปรากฏขึ้นควบคู่กับการดำเนินการทางการเมืองในรูปลักษณ์ของประชาธิปไตย แต่ธรรมชาติของทุนนิยมนั้นย่อมต้องการการผูกขาด การแสวงหาอภิสิทธิ์ เมื่อทุนนิยมมีความสำคัญมากขึ้นในสังคมไทย ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในค่านิยมและแนวคิดทางการเมือง ประชาธิปไตยกลายเป็นเรื่องของเสียงข้างมากแบบสุดโต่ง แอบอิงผลประโยชน์แฝง และการผูกขาดกลายเป็นธุรกิจการเมือง จนทำให้ประชาธิปไตยของเรายังต้องล้มลุกคลุกคลาน กลายเป็นเผด็จการทุนนิยมในคราบประชาธิปไตย และเกิดการคอรัปชั่นที่ระบาดไปทั่ว ได้เปิดโอกาสให้อำนาจพิเศษเข้ามาแทรกแซง ทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยต้องสะดุดลงเป็นพักๆ โดยเฉพาะการที่สังคมทันสมัยมากขึ้น เร็วขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การเรียนรู้เพื่อต่อสู้กับปัญหาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยุดยั้งอยู่กับที่ได้ ต้องมีการพัฒนาให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ
หลักการที่เสมือนเป็นแกนของความรุ่งเรืองและพัฒนาของสังคมประชาธิปไตยของประเทศไทยที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นนั้น จะต้องประกอบด้วยเสาหลักสำคัญสามประการ คือ หลักประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งทั้งสามเสาหลักนี้ไม่สามารถจะแยกจากกันได้ เนื่องจากมีผลเกื้อกูลกันอยู่อย่างแยกจากกันไม่ได้ การทำให้ผู้คนในสังคมมีความพร้อมในทุกๆด้าน ก็จะช่วยทำให้ผู้คนทั้งหลายสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิอย่างแท้จริง สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต่อว่า งานด้านประชาธิปไตยจึงไม่ได้จบอยู่เพียงแค่การมีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่เกิดจากเนื้อแท้ที่มาจากประชาชน ตรวจสอบได้ และต้องครอบคลุมประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นในชนทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี แม้จะเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็จะต้องได้รับความใส่ใจอย่างเสมอภาค โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนที่ต้องไม่มีการทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง การตรากฎหมายและการบังคับใช้ต้องตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม ต้องไม่มีการนำนิติวิธีมาใช้คุกคามประชาชน โดยเฉพาะเหล่านักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มักจะโดนคุกคามอยู่เป็นประจำ ประชาชนทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ในหลายกรณีผู้มีอำนาจได้ใช้นิติวิธีสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง มีการคุกคามประชาชนจนเกิดความวุ่นวาย ที่น่าแปลกที่เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นจากทั้งผู้ที่ได้อำนาจมาด้วยวิธีพิเศษและผู้ที่ได้อำนาจมาจาการเลือกตั้ง โดยไม่ได้สำเหนียกว่าการใช้นิติวิธีเทียมที่ไม่ยืนอยู่บนหลักนิติธรรมอย่างแท้จริงย่อมไม่ชอบธรรม ซึ่งได้ส่งผลกระทบระยะยาวที่ทำให้อำนาจรัฐบาลนั้นๆ เสื่อมถอยลงจนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบที่ขยายวงกว้างจนน่ากลัวอย่างที่พวกเราเพิ่งประสบมาด้วยตนเองเมื่อไม่นานมานี้ เราอาจโชคดีที่ได้รอดพ้นวิกฤตการณ์นั้นมาได้ แต่ใครจะประกันได้ว่าเราจะมีโชคเช่นนั้นตลอดไป
“การเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามานั้น เป็นงานหนักที่ทุกคนทุกภาคส่วนจะต้องให้ความใส่ใจ การประกันความยั่งยืนของประชาธิปไตยและความผาสุกของประชาชน โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการประสานกันระหว่างสามเสาหลักสำคัญดังกล่าว คือ หลักประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และหลักการ
สิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆกัน การเดินหน้าประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความเสียสละของเหล่าวีรชน ๑๔ ตุลาที่ได้ร่วมกันต่อสู้และเสียสละเลือดเนื้อในวันนั้น รวมทั้งผู้ที่เห็นคุณค่าในประชาธิปไตยที่ได้เสียสละและสืบสานการต่อสู้ตลอดมา”
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ