‘พาณิชย์’ เผยมูลค่าการค้าไทย-อินเดีย ครึ่งแรกของปี 61 ‘สดใส’ FTA ส่งให้ตัวเลขการค้าโตกว่าร้อยละ 26

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลการค้าระหว่างไทยกับอินเดียในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 (มกราคม–มิถุนายน) มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับอินเดีย อยู่ที่ 6,224.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 26.9  แบ่งเป็นไทยส่งออกไปอินเดีย 3,933 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอินเดีย 2,291.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันไทยได้มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอินเดียที่มีผลใช้บังคับแล้วอยู่ 2 ฉบับ ซึ่งผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ (1) FTA ไทย-อินเดีย (TIFTA) เป็นการเปิดตลาดลดภาษีศุลกากรสินค้า 83 รายการระหว่างกัน อาทิ เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และ (2) FTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) เป็นการลดภาษีสินค้าสินค้ากว่า 5,224 รายการ อาทิ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง และน้ำผลไม้ ซึ่งภายใต้ AIFTA มีสินค้าลดภาษีเป็นศูนย์เเล้วกว่าร้อยละ 79 จากการติดตามข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ FTA ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พบว่า ไทยมีการส่งออกไปอินเดียโดยใช้สิทธิภายใต้ TIFTA ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 มูลค่า 369.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.9 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA ร้อยละ 59.7 ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิภายใต้ TIFTA มูลค่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.9 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA ร้อยละ 0.3 สำหรับการใช้สิทธิภายใต้ AIFTA พบว่า ไทยส่งออกไปอินเดีย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 มูลค่า 1,868.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 30.3 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA ร้อยละ 48.5 ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิภายใต้ AIFTA มูลค่า 332.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 13.9 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA ร้อยละ 14.5 สินค้าส่งออกหลักสำคัญของไทยไปอินเดีย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอินเดีย ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปอินเดียภายใต้กรอบ FTA ทั้ง 2 ฉบับ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 56.9 ของมูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปอินเดีย เห็นได้ชัดว่า FTA ทั้ง 2 ฉบับ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับอินเดียขยายตัว ทั้งนี้ อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ซึ่งร้อยละ 57 ของ GDP มาจากภาคบริการ โดยภาคบริการที่สำคัญและเติบโตอย่างรวดเร็วในอินเดีย ได้แก่ การโรงแรม การขนส่งและการสื่อสาร การจัดหาเงินทุน ประกันภัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ไทยเองก็มีความรู้และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารแปรรูป การท่องเที่ยว การโรงแรม การก่อสร้าง รวมถึงภาคบริการอื่นๆ เช่นกัน ขณะที่อินเดียมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่น ไอทีนวัตกรรมทางการเงิน และอุตสาหกรรมยา ประกอบกับมีศักยภาพด้านแรงงานและต้นทุนการผลิตต่ำ รวมถึงมีท่าเรือใหญ่ๆ อาทิ รัฐมหาราษฏระ (เมืองมุมไบ) และรัฐคุชราต ทางชายฝั่งตะวันตกที่สามารถจะเป็นจุดกระจายสินค้าให้ไทยไปยังตลาดตะวันออกกลางและยุโรปได้

“ขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ของอินเดีย ทำให้ในแต่ละรัฐของอินเดียมีความแตกต่างและมีความหลากหลายทางค่านิยมและวัฒนธรรมสูงเช่นกัน ดังนั้น ในวางแผนดำเนินธุรกิจในอินเดียผู้ประกอบการไทยควรต้องเข้าไปศึกษากฎระเบียบ และช่องทางการค้าที่มีความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ/นักธุรกิจของอินเดียในแต่ละรัฐ ซึ่งต้องคำนึงถึงประเภทธุรกิจที่เหมาะสมกับรัฐนั้นด้วย เพื่อจะได้กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจให้ตรงกับเป้าหมายและสร้างโอกาสความสำเร็จที่สูงขึ้น” นางอรมน กล่าว

——————————-

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์