เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 61 ที่กระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ รวม 7,852 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้แยกเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง เทศบาล 2,441 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,333 แห่ง และการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง โดยที่ผ่านมาพบว่าการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก ยังพบปัญหาในด้านการบริหารการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การพัสดุ การเงิน การคลัง และการบัญชี ซึ่งการปฏิบัติงานดังกล่าว มีข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งไม่มีบุคลากรในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบการเงินการคลังและให้คำปรึกษาแนะนำการปฏิบัติงานด้านการเงินการคลังให้แก่ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ใน อปท.
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการเงินบัญชีของ อปท. เป็นไปโดยถูกต้อง และเพื่อให้ อปท. ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน หรือมีความจำเป็นต้องตรวจสอบการเงินบัญชี กระทรวงมหาดไทย จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ้างผู้เชี่ยวชาญบัญชีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน หรือมีความจำเป็น อาจจ้างผู้เชี่ยวชาญบัญชีทำการตรวจสอบการเงินและบัญชีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบัญชี อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดาต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี มีสัญชาติไทย เป็นผู้มีประสบการณ์เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี และผ่านการอบรมหลักสูตรการตรวจสอบการเงินและบัญชีของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและได้ใบรับรองผ่านการอบรม และขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญบัญชีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือหลักสูตรที่กระทรวงมหาดไทยรับรอง เป็นต้น
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำและให้ความสำคัญในการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความโปร่งใส และถือเป็นเรื่องที่ผู้บริหารทุกระดับ ทั้งราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งการออกหลักเกณฑ์การจ้างผู้เชี่ยวชาญบัญชีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริหารราชการของผู้บริหาร อปท. ให้เกิดความโปร่งใส และเสริมสร้างความมั่นใจในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ในการปฏิบัติงานการเงินการคลังมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการการช่วยตรวจสอบภายในหน่วยงานเพื่อป้องกันการทุจริต อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของทางราชการและประชาชนอย่างยั่งยืน