รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ เผย บอร์ดดีอี ผ่านฉลุยร่างแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เร่งขับเคลื่อนภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติประกาศใช้เป็นนโยบายและแผนระดับชาติต่อไป เดินหน้าเห็นชอบร่างข้อเสนอการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม ภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐ รวมถึงให้เชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐกับโครงการของภาครัฐอื่นๆ ได้เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่งผลดีขยายพื้นที่ให้บริการประชาชนเพิ่มต่อเนื่องจากเน็ตประชารัฐ และเกิดธุรกิจชุมชนระดับท้องถิ่น เป็นการกระจายรายได้ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 ในวันนี้ (11 ตุลาคม 2561) ซึ่งมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานฯ ได้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังนี้ โดยในที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ก่อนประกาศใช้เป็นนโยบายและแผนระดับชาติ ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีผลต่อการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สามารถนำเงินมาใช้ได้ตามวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา และให้มีความเชื่อมโยงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจากนี้จะได้มีการนำแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไปปฏิบัติได้โดยสมบูรณ์ต่อไป
“เชื่อว่าเมื่อประกาศใช้นโยบายและแผนระดับชาติจะทำให้ไทยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้แผนพัฒนาดังกล่าว โดยการขับเคลื่อนใน 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล บุคลากรดิจิทัล และความเชื่อมั่น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันดำเนินงานและเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป”
สำหรับโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ หรือโครงการเน็ตประชารัฐ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐครอบคลุมหมู่บ้านทั่วประเทศ ที่ประชุมเห็นชอบให้ จัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม (Reference Access Offer: RAO) ตามหลักเกณฑ์โครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ในการใช้งานโครงข่ายเน็ตประชารัฐที่ครอบคลุม ๒๔,๗๐๐ หมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม ได้ทราบเงื่อนไขและแนวทางปฏิบัติในการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลดี เป็นการเปิดให้ผู้ให้บริการรายอื่น หรือรายย่อยในท้องถิ่น ร่วมให้บริการในต้นทุนที่ราคาถูก รวมถึงประชาชนมีโอกาสเข้าใช้บริการได้ในราคาเหมาะสมและเป็นเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลมีความประสงค์ให้เกิดประโยชน์โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการให้บริการกับท้องถิ่นชุมชนอย่างกว้างขวาง ตลอดจนให้เกิดธุรกิจท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระจายรายได้อย่างต่อเนื่อง และเริ่มต่อยอดให้ร้านค้าโชห่วย สามารถพัฒนาต่อไปได้
และโครงการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตในโครงการเน็ตชายขอบ ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบให้เชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐกับโครงการภาครัฐได้ โดยผู้รับจ้างทุกรายดำเนินโครงการภาครัฐสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้ โดยยกเว้นให้ไม่ต้องเปิดโครงข่ายของตนเพื่อให้เชื่อมต่อ ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าทรัพย์สินโครงข่ายที่สร้างขึ้นจะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายในส่วนที่สามารถประหยัดได้ สำหรับกรณีอื่น ๆ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ โครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) สอดคล้องกับนโยบายที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจรากฐานของประเทศให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ส่วนการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต
ในส่วนเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการรวบรวมข้อมูล และจัดทำฐานข้อมูลด้านสายสื่อสาร และมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนแม่บท (Master plan) การจัดระเบียบสายสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในภาพรวม เพื่อแก้ปัญหาทรรศนะอุจาด ที่เกิดขึ้น
และเรื่องข้อเสนอแนวทางการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมรับทราบและเห็นชอบในหลักการของแนวทางดังกล่าว และมอบให้คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเร่งรัดจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นวาระเร่งด่วนพิเศษ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อพิจารณาในรายละเอียดของแนวทางการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน และนำผลเข้าที่ประชุมบอร์ดดีอี ครั้งต่อไปภายในเดือน พ.ย. 61
สุดท้ายที่ประชุมได้ พิจารณาประเด็นคลื่นความถี่สำหรับระบบโทรคมนาคมขนส่งทางราง จากการที่ สำนักงาน กสทช.ศึกษาแนวทางการใช้คลื่นความถี่สำหรับ ระบบคมนาคมขนส่งทางรางในย่านความถี่ 800/900 MHz และ 400 MHz แต่เนื่องจากการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการระบบคมนาคมขนส่งทางรางตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงกระทบต่อคลื่นความถี่ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ประชุมจึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาหาความเหมาะสมของคลื่นความถี่อื่น ๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากย่านความถี่ดังกล่าว
******************************