พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธานในพิธีปิดงาน “การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา (วจด.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และสมาคมเวิลด์ไดแด็ก ซึ่งเป็นเวทีในการพัฒนา ประลองฝีมือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ของนักศึกษาสายอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ดังนั้นทุกทีมที่ร่วมแข่งขัน จะเป็นตัวชี้วัดของการพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะการควบคุมระบบอัตโนมัติและการควบคุมหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม ให้สามารถใช้งานได้จริงในภาคอุตสาหกรรม 4.0
พลเอก สุทัศน์ เปิดเผยว่า การผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและมีสมรรถนะตรงกับความต้องการของสถานประกอบการเป็นเรื่องสำคัญ การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์ เน้นเรื่องที่ตรงและตอบโจทย์ภาคการผลิตได้อย่างดียิ่ง และยังเป็นการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้เรียนสายอาชีพทั้งระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งทักษะและประสบการณ์จากการแข่งขันครั้งนี้ผู้แข่งขันสามารถนำไปพัฒนาตนเองเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม สอศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันนี้ ได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจัดให้มี “การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหรรม 4.0 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่วันที่ 10-12 ตุลาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทั้งนี้ เป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ได้แก่ สอศ. วจด. มจพ. และสมาคมเวิลด์ไดแด็ก ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ และทุนการศึกษา จากสถานประกอบการ ภาคเอกชน
โดยแบ่งการแข่งขัน ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 การแข่งขันการควบคุมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม 4.0 ประเภทที่ 2 การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์แขนกลในงานเชื่อมอุตสาหกรรม 4.0 และประเภทที่ 3 การแข่งขันการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งมีทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน ระดับอุดมศึกษา จำนวน 11 ทีม และระดับอาชีวศึกษา จำนวน 128 ทีม รวมทีมแข่งขันทั้งสิ้น จำนวน 139 ทีม ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัล การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 แก่สถาบันการศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทั้ง 3 ประเภท
สำหรับ รางวัลชนะเลิศประเภทการแข่งขันควบคุมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี รางวัลชนะเลิศประเภทการควบคุมหุ่นยนต์แขนกลในงานเชื่อมอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม และรางวัลชนะเลิศประเภทการแข่งขันออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช โดย นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทั้ง 3 ประเภท และพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทั้ง 3 ประเภท และสอศ. วจด. มจพ. มอบถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ทั้ง 3 ประเภท
ทีมชนะเลิศ ทั้ง 3 ประเภท ได้รับถ้วยพระราชทานฯ พร้อมเกียรติบัตร และทุนการศึกษา รางวัลละ 50,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับมอบเกียรติบัตร และทุนการศึกษา รางวัลละ 30,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับมอบเกียรติบัตร และทุนการศึกษา รางวัลละ 15,000 บาท ทีมรองชนลิศอันดับ 3 ได้รับมอบเกียรติบัตร และทุนการศึกษา รางวัลละ 5,000 บาท
การจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาทักษะการควบคุมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์เชื่อมในงานอุตสาหกรรม การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ และตอบโจทย์ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการนำไปใช้งานจริง เกิดความร่วมมือเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ เป็นการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะขั้นสูงในการฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ 4.0 ที่ปรึกษาฯ กล่าวปิดท้าย
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.