รมช.กนกวรรณ ลงพื้นที่ป่าเดียว น้ำเดียว ในแดนดิน “พรุโต๊ะแดง” ชู กศน.ส่งเสริมอาชีพ-การใช้ประโยชน์จากต้นสาคูสู่ชุมชน อย่างยั่งยืน

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการบริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดง ณ ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากต้นสาคูของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2563 โดยมีนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายณัฐพงษ์ นวลมาก รองเลขาธิการ กศน. นายสุรสิทธิ์ สุดสาย ผอ.กศน.จังหวัดนราธิวาส นายพลีชีพ หลำหัส รักษาการ ผอ.ศูนย์วิจัยฯ ตลอดจนผู้บริหาร ครู และบุคลากร ผู้เรียน กศน.ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ร่วมให้การต้อนรับ

“วันนี้มีความตั้งใจมาเยี่ยมชมป่าพรุโต๊ะแดงจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นป่าเดียว น้ำเดียว ในแดนดิน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศไทย บนเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ และเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากต้นสาคู โดยให้ประชาชนที่มีต้นสาคูในที่ดินของตนเอง สามารถสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้สาคูหนึ่งต้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างครบวงจร ที่จะเป็นการสร้างความมั่นคงแก่ประชาชนในชุมชน ในขณะเดียวกันก็ต้องร่วมกันอนุรักษ์ต้นสาคูในพื้นที่ป่า และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับระเบียบและกฎหมายอย่างถูกต้องควบคู่ไปด้วยพร้อมขอฝากหน่วยงานในพื้นที่ ช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อการประกอบอาชีพ และส่งเสริมการสร้างอาชีพสร้างรายได้จากต้นสาคูอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าจากสาคูต้น ให้มีคุณภาพ ปลอดภัย เก็บรักษาไว้ได้นาน ที่จะสามารถยกระดับสู่สินค้าฮาลาลที่มีมาตรฐาน และต่อยอดสู่การจดอนุสิทธิบัตรในอนาคต

ในส่วนของครูโอ๊ะ มีความตั้งใจเต็มร้อยที่จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและสร้างการพัฒนาในทุกพื้นที่โดยใช้การศึกษาตลอดชีวิตเป็นตัวนำ จึงขอฝากครู กศน.ทุกคน ที่เป็นครูพันธุ์พิเศษสำหรับรัฐมนตรี ให้ทำหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู ผู้ที่เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของลูกศิษย์ ที่ใช้ความรักเมตตานำทางการศึกษา เป็นศูนย์รวมของการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่คนทุกช่วงวัยด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

ในโอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เดินเยี่ยมชมเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 1,200 เมตร และเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ป่าสาคู ระยะทาง 900 เมตร พร้อมร่วมปลูกป่าพรุ เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ด้วย

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
สถาพร ถาวรสุข: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
10/10/2563