ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึงผลสืบเนื่องจากการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยนวัตกรรม ว่า เป็นทั้งข่าวดีของพี่น้องประชาชน และเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อนักวิจัยในมหาวิทยาลัย ซึ่ง รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คาดหวังจะใช้ กระบวนการวิจัยไปสร้างวัฒนธรรมวิจัยจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ประชาสังคม วิสาหกิจ ภาครัฐ เพื่อทำให้กระบวนการคิดเป็นเหตุเป็นผลเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของการพัฒนาบ้านเมือง
“การปฏิรูปครั้งนี้เป็นการควบรวม 3 องค์กรที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ระบบวิทยาศาสตร์ ระบบวิจัยและนวัตกรรม และระบบการอุดมศึกษาเข้าอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบบว่าด้วยการอุดมศึกษาซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดรวมกว่า 180 สถาบัน มีหน่วยงานยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมเข้ามาร่วมกันอีกหลายสิบหน่วยงาน ที่สำคัญเรามีทั้งเครือข่ายนักวิจัยเป็นเครือข่ายของนักวิจัยชาวบ้าน ชุมชน และภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมมือกัน นับเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่จะทำให้เห็นศักยภาพว่าเราเป็นกระทรวงแห่งการอุดมศึกษา ที่สร้างปัญญาให้กับสังคมและชุมชน มีการสร้างกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นกองทุนที่สามารถทำให้นักวิจัย สามารถทำงานต่อเนื่อง ทำเป็นแพคเกจขนาดใหญ่ที่สามารถทำให้เกิดผลกระทบได้จริง”
ในเชิงโครงสร้างมีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา 3 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข). หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ บพท. ซึ่งเป็นหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ เน้นการพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่นพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายรายย่อยในระดับพื้นที่
โดยในส่วนของ บพท. ได้เล็งเห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งเข้าใจบริบทพื้นที่ดีที่สุด เกาะติดพื้นที่ในระยะยาว มีโครงสร้างกำลังคน มีความเชี่ยวชาญ และมีหน่วยสนับสนุนการวิจัยมารองรับการบริหารงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นโครงสร้างผลิตกำลังคนชั้นดี หากมหาวิทยาลัยสามารถทำงานวิจัยที่สร้างผลกระทบกับชุมชนสังคม คาดการณ์ว่า 180 กว่ามหาวิทยาลัย เราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้อย่างแน่นอน ดังนั้นการหนุนเสริมของบพท.ต่อมหาวิทยาลัยจะใช้ทั้งเงินทุนและเครื่องมือการบริหารจัดการงานวิจัยที่มีศักยภาพและปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งมหาวิทยาลัยและสังคม ตามทิศทางการพัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท
ผอ.บพท. ได้ยกตัวอย่างภารกิจในการสนับสนุนชุดโครงการวิจัยมหาวิทยาลัยเป็นกลไกดูดซับเศรษฐกิจพื้นที่ ที่ บพท.ผลักดันให้มหาวิทยาลัยใช้ศักยภาพของตัวมหาวิทยาลัยในด้านการเป็นหน่วยบริโภคที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในมหาวิทยาลัย รับซื้อสินค้าชุมชน โดยหนุนงบประมาณเพียง 1.5 ล้านบาท ภายใน 8 เดือน มหาวิทยาลัย 1 แห่ง สามารถสร้างเศรษฐกิจมวลรวมให้กับจังหวัดได้ถึง 10 ล้านบาท 4 ใน 10 ล้านบาท เป็นรายได้ที่กระจายลงไปในชุมชนทันทีไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งปัจจุบัน บพท.ให้การสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น 18 มหาวิทยาลัย
“หรือกรณีการพัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยเป็นคนกลาง หรือเป็นตลาด หากมีการออกแบบที่ดี มหาวิทยาลัยจะเป็น Good Boy ในการสร้าง demand – supply ทำสินค้าชุมชนให้เจอกับผู้บริโภคโดยตรง และจะวัดผลที่สัดส่วนรายได้ของเกษตรกร หรือผู้ผลิตต้นน้ำเยอะขึ้น เราทำอย่างนี้ใน 8 มหาวิทยาลัย ปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 13 มหาวิทยาลัย กระจายตัวอยู่ประมาณ 20 จังหวัดทั่วประเทศ” ผอ.บพท.กล่าว
ซึ่งผลลัพธ์ที่วัดผลได้เช่นนี้ทำให้ ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ได้มอบนโยบายให้ บพท.ขยายพื้นที่ในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยเป็นตลาดกระจายไปทั่วประเทศใน 180 กว่ามหาวิทยาลัย เชื่อว่าจะสามารถสร้างเศรษฐกิจมวลรวมได้อย่างน้อยจังหวัดละ 10 ล้านบาท 780 ล้านบาท จะเกิดขึ้นทันทีและหากเม็ดเงิน 40-50 เปอร์เซ็นต์ไปอยู่ที่ชุมชน เงินจำนวน 400 กว่าล้านจะเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ในชุมชนทันที
……………………………………………….