กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะประชาชนรับประทานอาหารเจ ไม่เน้นอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด และรับประทานแป้งมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ
นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเดือนตุลาคมนี้เป็นเทศกาลกินเจ ประชาชนจะถือศีล กินเจ งดบริโภคเนื้อสัตว์ ชำระตนให้ผุดผ่องทั้งกายและใจ ซึ่งในการปรุงอาหารและเลือกอาหารรับประทาน แนะประชาชนบริโภคผักให้มากๆ ควรรับประทานอาหารประเภทของทอด ผัดให้น้อยลง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำมันมาก และอาหารที่ทำจากแป้ง เช่น บะหมี่, ลูกชิ้นเจ หรือเนื้อสัตว์เจ มากเกินไป เพราะจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการรับประทานแป้งมากเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารประเภทผักดองที่มีรสเค็มจัด เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง
นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวต่อว่า ขอแนะประชาชนผู้ถือศีลกินเจ ให้รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและปฏิบัติตามแนวทางของสุขบัญญัติ ด้วยการรับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ งดเว้นอบายมุข ดังนี้ 1) อาหารประเภทผักและผลไม้ มีกากใยที่ช่วยในการขับถ่าย ช่วยขับของเสียและสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย ช่วยลดคอเลสเตอรอล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ต้องล้างให้สะอาด ลดความสกปรกและสารพิษตกค้าง ด้วยการล้างน้ำไหลผ่าน นาน 2 นาที หรือ แช่ผัก ผลไม้ในน้ำสะอาดหรือน้ำยาล้างผัก นาน 5-10 นาที และล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง ก่อนนำมาปรุงหรือรับประทาน 2) รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลากหลาย ถูกหลักโภชนาการ โดยรับประทานเต้าหู้ โปรตีนเกษตร ถั่ว ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ รับประทานผักผลไม้หลากสี และที่สำคัญอาหารต้องไม่เค็มจัด ไม่หวานจัด และไม่มันมากเกินไป 3) การรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจและอาหารต้องมีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี และเลขสารบบอาหารที่ชัดเจน และ 4) ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ คิดดี ปฏิบัติดี งดเว้นอบายมุขทั้งปวง โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ ถ้าเลิกได้จะได้บุญกุศลทั้งต่อตนเองและคนในครอบครัว
ทั้งนี้ ควรมีการออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วย เพื่อให้มีรูปร่างดี มีสุขภาพร่างกายที่สดใสทั้งกายและใจ อิ่มบุญ อิ่มใจ ในช่วงเทศกาลกินเจ และสามารถศึกษาความรู้ด้านสุขภาพ ข่าวสาร สาระความรู้ด้านสุขศึกษาได้ที่เว็บไซต์คลังความรู้ด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (http://healthydee.moph.go.th)