วันที่ 5 ตุลาคม 2563 : ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะผู้บริหาร ร่วมการประชุมหารือความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่สังคมไทย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รมว.อว. กล่าวในตอนหนึ่งของการมอบนโยบายว่า อยากให้มหาวิทยาลัยรักษาคุณภาพ รักษาความเป็นเลิศ การเป็นผู้นำในเรื่องที่ถูกต้องไว้ ต้องคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของอุดมศึกษาไทย มีการแข่งขันกันได้ แต่ต้องร่วมมือกัน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้เรียนรู้ให้มาก องค์กรทั้งหมดก็จะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วย (Learning Society) ถ้าจุฬาไม่เป็นผู้เรียนรู้ ประเทศไทยก็ยากที่จะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วย และฝากให้ช่วยมหาวิทยาลัยอื่นๆ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่ร่วมมือได้ทำให้ประเทศไทยทั้งหมดเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน
เรื่องที่สองคือ จุฬามีขนบประเพณีที่ดีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นฐานในการต่อยอดไปสู่สิ่งต่างๆ แต่ขณะนี้ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของเราทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะสถาบัน ประเพณี สังคมที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ขนบประเพณีจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสมดุลกับอดีต ปัจจุบัน อนาคต ความรู้ที่ได้มาจากประเทศอื่นก็จะต้องปรับให้เข้ากับรูปแบบของสังคมที่มีมาแต่อดีต มิใช่เป็นการยัดเยียดเข้าไปในสังคม มหาวิทยาลัยต้องเอาความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์เพื่อให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย และพยายามส่งออกความรู้นั้นออกไปด้วย จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้เราจะส่งออกความรู้ ในเชิงนวัตกรรมออกไปในหลายเรื่อง ซึ่งจุฬาสามารถทำได้
เรื่องสุดท้ายคือ อยากเห็นจุฬาผลิตนักปราชญ์ นักคิด ออกมาให้มากขึ้นนอกเหนือจากนักวิจัย ศาสตราจารย์ หรือคนที่เป็นเลิศในทางวิชาการเฉพาะทางแล้ว ทำอย่างไรที่จะให้เด็กที่ผลิตขึ้นมา กลายเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิตในความหมายจริงๆในเวลาที่เหมาะสม ความรู้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่จะต้องมีปัญญาควบคู่ไปกับคุณธรรม จริยธรรมด้วย รมว.อว. กล่าวในตอนท้าย
จากนั้นได้รับฟังการนำเสนอวิสัยทัศน์และพันธกิจที่สะท้อนความมุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม โดย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะผู้บริหารจากกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชม Baiya Phytopharm ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านไบโอเทคโนโลยีที่นำผลงานด้านวิชาการและงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
…………………………………………………………….