คจ.คส. จัดเวทีเสวนา CPTPP ประเด็น ควรเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV1991) หรือไม่ นักกฎหมายวิเคราะห์เกษตรกรจะถูก ‘ริบสิทธิดั้งเดิม’ หลายอย่าง ขณะที่นักวิชาการแนะเร่งพัฒนาฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ-สมุนไพรไทย ส่งเสริมและยกระดับการวิจัยอย่างเป็นระบบ พร้อมเสนอต่อรองเงื่อนไขทำแบบ JTEPA
คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ : คจ.คส. (National Commission on International Trade and Health Studies : NCITHS) จัดเวทีเสวนาวิชาการว่าด้วยความตกลง CPTPP ผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมไทย ครั้งที่ 4 ประเด็นอนุสัญญา UPOV1991 และพืชสมุนไพร
รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) นั้น มีเงื่อนไขหนึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมความตกลงฯ จำเป็นต้องเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งเป็นกลไกในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่นักพัฒนาพันธุ์พืช โดยขณะนี้รัฐบาลไทยได้ตั้งคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อศึกษาผลกระทบให้รอบคอบก่อนตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการเจรจา CPTPP หรือไม่ เวทีครั้งนี้จึงเป็นกลไกหนึ่งในการร่วมกันหาคำตอบให้สังคม
ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กล่าวว่า UPOV1991 นั้นปรับปรุงมา 3 ครั้ง กระทั่งมีระดับความคุ้มครองสิทธิของผู้ปรับปรุงพันธุ์เข้มข้น จนเรียกว่า ระบบเสมือนสิทธิบัตร แทนที่จะคุ้มครองเฉพาะส่วนขยายพันธุ์ก็เปลี่ยนเป็นคุ้มครองถึงระดับอนุพันธุ์ (EDV) จากที่เคยอนุญาตให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ต่อได้ ก็กลับสร้างแนวปฏิบัติให้ทำได้กับเฉพาะธัญพืชขนาดเล็กเท่านั้น และเกษตรกรต้องเก็บไว้ใช้เอง ไม่สามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้ นอกจากนี้ ยังต้องปรากฏหลักฐานข้อเท็จจริงด้วยว่าการเก็บเมล็ดพันธุ์เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมถึงต้องคำนึงถึงเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของพันธุ์อยู่ดี
ผศ.ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า การเข้าเป็นภาคี UPOV1991 จะทำให้ประเทศไทยต้องแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งออกแบบไว้ค่อนข้างดี ซึ่งคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ระดับหนึ่งและมีกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์กับประเทศเจ้าของพันธุกรรม โดยอ้างอิงมาจากอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม หากไทยเข้าร่วม UPOV1991 คาดว่าจะส่งผลกระทบหลักๆ ดังนี้
1.ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชระบุว่า ใครจะเข้ามาเอาพันธุ์พืชใดในประเทศไทยต้องตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กันก่อน มีกระบวนการบังคับให้ต้องเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาเพื่อป้องกันขโมยของคนอื่นมาแล้วมาจดเป็นพันธุ์พืชใหม่ แต่ UPOV1991 ไม่อนุญาตให้มีเรื่องการเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มา
2.เกษตรกรไทยเก็บและใช้เมล็ดพันธุ์ได้ค่อนข้างเสรี แลกเปลี่ยนกันได้ แต่ UPOV1991 ทำไม่ได้ กรณีประเทศฟิลิปปินส์ที่เข้าร่วม UPOV1991 ก็ต้องยกเลิกสิทธิของ traditional small farmer แลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
3.จีเอ็มโอ กฎหมายไทยวางเงื่อนไขว่า ก่อนจดทะเบียนต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน แต่เงื่อนไขนี้ก็ถูกปฏิเสธจาก UPOV1991 เช่นกัน
4.กระบวนการในการเข้าเป็นภาคี UPOV1991 ไทยต้องส่งการปรับปรุงกฎหมายของไทยไปให้เขาดู หากข้อไหนที่เขาไม่เห็นด้วยจะมีการแก้ไขกลับมา นำไปสู่คำถามเรื่องอธิปไตยของประเทศ
“กฎหมายฉบับนี้ คนที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดคือ เกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มคนใหญ่ที่สุดในประเทศ จึงต้องพิจารณากันให้รอบคอบ” รศ.ดร.สมชาย กล่าว
ขณะที่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอย่างบราซิล จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ล้วนแต่ปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นภาคี UPOV1991 ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเรื่อง UPOV1991 ก่อนหน้านี้ในสังคมไทยได้ข้อยุติระดับหนึ่งแล้ว เช่น บางหน่วยงานเชื่อว่าหากไทยเป็นภาคีก็ยังสามารถออกกฎระเบียบภายในประเทศให้ชาวบ้านใช้พันธุ์ต่อได้ แต่ตอนนี้ชัดเจนว่าเงื่อนไขดังกล่าวจำกัดมาก หากจะบอกว่า UPOV1991 เกี่ยวกับพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพันธุกรรมท้องถิ่นหรือการแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ท้ายสุดปรากฏชัดว่าเกี่ยวข้องกัน เช่น กรณีมาเลเซียก็ต้องตัดเรื่องกลไกแบ่งปันผลประโยชน์ออกจากกฎหมายภายใน
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า กมธ.ที่ศึกษาเรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาความพร้อมของประเทศไทยหากจะเข้าร่วม UPOV1991 ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม 2 เรื่องใหญ่ คือ
1.ไม่มีระบบฐานข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ
2.การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชหรือการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชสมุนไพรยังอยู่ในระดับต่ำ
“ทีดีอาร์ไอเคยทำวิจัยสิบกว่าปีก่อนเสนอตัวเลขคร่าวๆ ว่า ควรต้องมีงบระดับหมื่นล้านเพื่อยกระดับการวิจัย แต่ปัจจุบันกรมการข้าวมีงบวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวต่ำกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่ สวทช.เคยประเมินว่าไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ 10% ของโลก ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ในจำนวนพันธุ์พืชที่โลกรู้จักราว 270,000 ชนิด เมืองไทยพบแล้วประมาณ 20,000 ชนิด ยุทธศาสตร์สมุนไพรของไทยระบุว่า มีพืชสมุนไพรไทย 2,000 กว่ารายการที่ชาวบ้านรู้และเอามาใช้ประโยชน์ ส่วนที่ยังไม่ปรากฏในระบบอีกจำนวนไม่น้อย ดังนั้น เราต้องปกป้องฐานตรงนี้ ตราบที่เรายังไม่สามารถยกระดับการวิจัยไปแข่งกับเขาได้” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าว และเสนอว่า หากไทยต้องเข้าร่วม CPTPP ควรจะใช้เงื่อนไขเหมือนตอนที่เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยไทยไม่เข้าเป็นภาคี UPOV1991 แต่ยอมรับว่าจะให้ความคุ้มครองชนิดพันธุ์พืชมากที่สุดให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล หรือหากเป็นไปได้ไทยอาจชะลอการเข้าร่วม CPTPP เพราะผลประโยชน์ที่ได้ไม่มากนัก และรอดูกรอบความตกลงอื่นที่ไม่มีเงื่อนไขของ UPOV เช่น RCEP
ด้าน ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลอภัยภูเบศร กล่าวว่า ตลาดสมุนไพรไทยไม่เล็กแต่ก็ไม่ใหญ่และมีศักยภาพจะเติบโตได้มาก แต่ขาดการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ผู้ประกอบการในตลาดสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางและเล็ก นอกจากนี้ประเทศไทยถือว่ามีความเข้มแข็งของชุมชนและการแพทย์แผนไทย ที่ผ่านมา โรงพยาบาลอภัยภูเบศรทำงานร่วมกับหมอพื้นบ้าน พวกเขาช่วยดูแลสุขภาพของชุมชนโดยเก็บสมุนไพรจากป่าและนำมาปลูกเองบ้าง “หากมีการคุ้มครองพันธุ์พืชตามกรอบ UPOV แล้วเกสรปลิวไปผสมกับพันธุ์พื้นเมือง กลายเป็น EDV ผลกระทบจะตกกับแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งเป็นหน่วยสำคัญที่ทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ก่อนไปโรงพยาบาล และจะสร้างความกังวลในการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ยกตัวอย่าง ช่วงโควิด-19 เราแจกเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรไปกว่าล้านเมล็ด” ดร.ผกากรอง กล่าวและทิ้งท้ายว่า “ก่อนจะพูดเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ เราต้องมีข้อมูลก่อน การที่เราไม่มีลิสต์รายชื่อของสมุนไพรท้องถิ่น ทำให้นักวิจัยต่างประเทศเข้าถึงพันธุ์พืชเราได้ง่ายมาก ทางชายแดนบางทีก็หยิบจับออกไปได้ง่ายๆ”
………………………………………….