สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ ชู “ศูนย์การศึกษาธัญญารักษ์” เปิดสอนสายสามัญและสายวิชาชีพแก่ผู้ป่วยระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยยาและสารเสพติดให้มีความทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดของ สบยช. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 พบผู้ป่วยทั้งหมด 5,603 คน เป็นเพศชาย 4,831 คน คิดเป็นร้อยละ 86.22 และเพศหญิง 772 คน คิดเป็นร้อยละ 13.78 ประเภทของยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือยาบ้า รองลงมาได้แก่ สุรา และกัญชา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ว่างงานและ นักเรียน นักศึกษา ตามลำดับ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 19 ปี จำนวน 773 คน คิดเป็น ร้อยละ 13.80 ของผู้ป่วยทั้งหมด ปัญหายาเสพติดมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ของโลกในยุคปัจจุบัน เด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งควรจะต้องได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านยาเสพติด และพัฒนาศักยภาพในการป้องกันสิ่งกระตุ้นและปัจจัยยั่วยุต่างๆ เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง ใช้ความสามารถและสติปัญญาได้อย่างเต็มศักยภาพ
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า สบยช. ตระหนักถึงปัญหาเยาวชนติดยาและสารเสพติด รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ให้มีความทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพและอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ สบยช. จึงได้มีการเปิด“ศูนย์การศึกษาธัญญารักษ์” สอนสายสามัญและสายวิชาชีพ ให้แก่ผู้ป่วยในระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยได้รับการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาสายสามัญจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดปทุมธานี และได้รับการสนับสนุนอาจารย์ประสานงานประจำจากกองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในปัจจุบันมีการ
เปิดสอนใน 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เปิดสอนวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น. ซึ่งมีผู้ป่วยให้ความสนใจสมัครเข้าเรียนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
หลังสำเร็จการศึกษาผู้ป่วยบางส่วนนำผลการศึกษาไปสมัครเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือสมัครเข้าทำงานตามความถนัดของตนเองและสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลาและปัตตานี
*********************************************