ชป. เผยโครงการอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัดฯ-แม่กวงฯ คืบหน้าไปมากแล้ว

ตามมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมชลประทานดำเนินการโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยการขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำส่วนเกินจากลำน้ำแม่แตงในช่วงฤดูฝน ประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ลงสู่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ก่อนจะผันน้ำส่วนเกินจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลประมาณปีละ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 160 ล้านลูกบาศก์เมตร  ลงสู่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทั้ง 2 แห่ง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนอย่างยั่งยืน

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (3 ต.ค. 63) อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด สัญญาที่ 1 ประกอบด้วย งานประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ระบายน้ำได้สูงสุด 1,473.34 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำด้วยวิธีขุดระเบิด (Drill & Blast, D&B) และด้วยวิธีเครื่องขุดเจาะอุโมงค์ (Tunnel Boring Machine, TBM) ความยาวรวมประมาณ 13,600 เมตร มีผลการดำเนินงานสะสมประมาณร้อยละ 72 จากแผนงาน สัญญาที่ 2 ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารสูบน้ำออกจากอุโมงค์ลอดแม่น้ำปิง (Pump Shaft) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 10 เมตร ลึก 40 เมตร อัตราการสูบน้ำ 90 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำด้วยวิธีขุดระเบิด (Drill & Blast, D&B) และด้วยวิธีเครื่องขุดเจาะอุโมงค์ (Tunnel Boring Machine, TBM) รวมความยาวประมาณ 12,024 เมตร มีผลการดำเนินงานสะสมประมาณ  ร้อยละ 34 ของแผนงาน

ในส่วนของ อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง สัญญาที่ 1 ดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำด้วยวิธีขุดระเบิด (Drill & Blast, D&B) ความยาวรวมประมาณ 12,500 เมตร มีผลการดำเนินงานสะสมร้อยละ 28 ของแผนงาน สัญญาที่ 2 ดำเนินงานด้วยวิธีเครื่องขุดเจาะอุโมงค์ (Tunnel Boring Machine, TBM) ความยาวรวมประมาณ 10,473 เมตร มีผลการดำเนินงานสะสมร้อยละ 97 ของแผนงาน

ทั้งนี้ หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและประสิทธิภาพในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งจะมีการนำระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและการเตือนภัยจากน้ำหลากล่วงหน้าได้ ตลอดจนเป็นการเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำช่วงฤดูฝนของพื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธาราจำนวนกว่า 175,000 ไร่ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

…………………………………………………………

กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

3 ตุลาคม 2563