ในทางวิทยาศาสตร์พบว่า อาหารมีผลต่อสุขภาพทางอารมณ์ และจิตใจ การขาดวิตามิน แร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นบางอย่างอาจนำไปสู่ภาวะเครียด ซึมเศร้า ปัญหาพฤติกรรม และโรคทางกาย ในทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแนะนำให้กินอาหารที่มาจากธรรมชาติปราศจากการปนเปื้อนหรือปรุงแต่งในการปรับสมดุลของธาตุต่างๆ ในร่างกายของเรา และระมัดระวังไม่บริโภคอาหารที่จะไปทำให้ธาตุเสียสมดุล เช่น ไม่กินอาหารรสใดรสหนึ่งมากเกิน หรือมีฤทธิ์แรงมากเกินไป เช่น ชา กาแฟ ไม่ควรดื่มมากเกินไป เพราะจะไปกระตุ้นสมองเกินไป ให้กินอาหารที่มีคุณสมบัติกลางๆ แต่หลากหลายคุณลักษณะ หลากหลายสี หลากหลายรส เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน
ปัจจุบันมีความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับ อารมณ์มากมายจนอาจจะสับสนได้ง่าย แต่มีหลักง่ายๆ คือ ยึดความสมดุลของธาตุเป็นหลัก โดยมีแนวทางในการเลือกอาหารดังนี้
- อาหารหลักคือ ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ถั่วต่างๆ อาหารเหล่านี้ทำให้การทำงานของประสาทสัมผัสและส่งเสริมให้จิตใจมีความกลมกลืนและชัดแจ้งไม่ซึมเศร้าฟุ้งซ่าน คุณสมบัติที่เป็นกลางๆ ของธัญพืชจะช่วยปรับสมดุลของธาตุไม่ว่าจะเอียงไปทางไหน ก็จะดึงให้กลับมาสู่สมดุลได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการโภชนาการสมัยใหม่ที่พบว่า คาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสีช่วยลดความเครียด สร้างความผ่อนคลาย เนื่องจากไปทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือด อินซูลินจะกระตุ้นให้มีการนำเอาสารทริปโตเฟนไปเปลี่ยนเป็น เซโรโทนินในสมอง จึงทำให้อารมณ์ดีและมีความสุข อย่างไรก็ตาม ไม่ควรกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เพราะจะ ทำให้สารเซโรโทนินถูกผลิตออกมามากจนเหลือเฟือ ทำให้เกิดอาการ ง่วงนอนมากกว่าปกติ ข้าวกล้องยังมีสารกาบา วิตามินบีรวม กรดโฟลิก ส่วนอาหารกลุ่มธัญพืชจะอุดมไปด้วยเกลือแร่จำพวกแมกนีเซียม โปแตสเซียม สังกะสี ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง
- เนื้อ นม ไข่ ไขมันที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะ ช่วยบรรเทาความแห้งของวาตะธาตุ เพราะโปรตีนมีกรดอะมิโนที่ไป ช่วยสร้างสารเคมีในสมอง นมยังอุดมไปด้วยแคลเซียมซึ่งช่วยทำให้เอนไซม์ในสมองให้ทำงานได้อย่างปกติ น้ำมันปลา น้ำมันรำข้าว ถั่ว อัลมอนด์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ มีวิตามินอี ซึ่งทำหน้าที่ในการป้องกัน ไม่ให้สารสื่อประสาทในสมองถูกทำลาย และทำให้สารสื่อประสาท ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ผักใบเขียว ผลไม้หลากสี ให้ความชุ่มชื้น อุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ
- เครื่องเทศ เช่น พริกไทย ขิง พริก ช่วยลดความเย็นอันเป็น ธรรมชาติของลม ช่วยย่อยอาหาร ทำให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆดีขึ้น ช่วยการไหลเวียนของเลือดนำออกซิเจนไปยังสมอง และพบว่า พืชกลุ่มเครื่องเทศช่วยเสริมการทำงานของสารเคมีในสมอง เช่น ขิง ช่วยกระตุ้นตัวรับเซโรโทนิน ช่วยต้านอาการซึมเศร้า พริกไทยช่วย กระตุ้นตัวรับแอซิติลโคลีน ช่วยเรื่องความจำและการเรียนรู้ เป็นต้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบที่มากที่สุดของ เนื้อสมอง ทั้งยังนำพาสารอาหารเข้าไปในสมองและลำเลียงของเสียออกมา
- พฤติกรรมการกินอาหารต้องเน้นความสม่ำเสมอ เพียงพอ ครบถ้วน เช่น กินอาหารครบ 3 มื้อ ไม่งดอาหารมื้อเช้าอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ ก็ยังมี สมุนไพรหลายชนิดมีฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อจิตใจ สมอง และระบบประสาท เช่น เสริมสร้างความจำ เพิ่มสมาธิ คลายความวิตก กังวล ทำให้สมองตื่นตัว ทำให้ผ่อนคลาย สงบระงับ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ป้องกันความเสื่อมของสมอง เป็นต้น โดยออกฤทธิ์ผ่านหลายกลไกทั้งที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองและกลไกอื่นๆ เช่น การลดการอักเสบ การต้านอนุมูลอิสระ การปกป้องเซลล์ ถ้าเซลล์อักเสบ มีความผิดปกติ จะมีผลต่อการสร้างสารสื่อประสาทและการทำงานของระบบประสาทอื่นได้
ตัวอย่างสมุนไพรที่ใช้ เช่น บัวบกช่วยคลายเครียดและลดอาการซึมเศร้า จากการไปลดและเพิ่มสารเคมีในสมอง โดยไปลดคอร์ติโซนและเพิ่ม เซโรโทนิน โดพามีน และนอร์อะดรีนาลีน ทั้งยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง “ลูกยอ” “ขิง” ช่วยคลายเครียด “สะระเเหน่” “กระเทียม” ลดความเครียด เเละอาการซึมเศร้า เปลือกต้นพวก จำปี จำปา ว่านน้ำ สมอ แห้วหมู น้ำมันหอมระเหย ช่วยผ่อนคลาย และ “ขมิ้นชัน” ช่วยลดอาการซึมเศร้า
ข้อมูลจาก หนังสือบันทึกของแผ่นดิน 12, สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
คลินิกออนไลน์ line : @abhthaimed