ขอแนะนำพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ภายใต้การดูแลของกรมทรัพยากรธรณีแห่งที่ 7 ที่มีชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา”หรือ พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี บนพื้นที่กว่า 14,000 ตารางเมตร มีอาคารสำหรับจัดแสดง และจัดกิจกรรม รวมทั้งสิ้น 13 โซนด้วยกัน อยู่ริมแม่น้ำตาปี ซึ่งถ้ามาจากสนามบินสุราษฎธานี จะใช้เวลาเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์เพียง 15 นาที ซึ่งสะดวกมาก ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวที่จังหวัดสุราษฎธานีหรือเกาะสมุย ถือว่าเป็นทางผ่านสามารถแวะเข้าไปชมก่อนได้ นอกจากนั้นบริษัททัวร์ท่องเที่ยวต่าง ๆ อาจจะบรรจุลงในโปรแกรมการขายของท่านได้อีกด้วย ซึ่งมีอัตราค่าเข้าชมที่ไม่แพง แถมได้ความรู้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมธรณีวิทยาต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติก่อนจะไปท่องเที่ยวยังพื้นที่จริง ๆได้อีกด้วย
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมคณะได้ลงพื้นที่นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ ส่วนจัดแสดง โดยการจัดแสดงนั้น ผู้ที่มาชมจะสามารถเข้าใจตั้งแต่กระบวนการกำเนิดโลกเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีก่อนไล่เรียงไปจนถึงการกำเนิดสิ่งมีชีวิตแรกของโลกจำพวก ไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) เป็นยูแบคทีเรียที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ โดยตามตารางธรณีกาลถือว่าเริ่มนับยุคทางธรณีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์สำคัญของช่วงอายุสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น ผู้ที่เข้าชมจะได้เรียนรู้เรื่องราวทางธรณีแต่ละยุคและทราบว่าแต่ละยุคมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้สิ่งมีชีวิตนั้น ๆ วิวัฒนาการหรือสูญพันธ์ไปได้อย่างไร ซึ่งความสำคัญดังกล่าวพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและบริเวณใกล้เคียงได้ค้นพบฟอสซิลกำกับยุคอยู่ในช่วงหมายุคพาลีโอโซอิกอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่มาว่าโลโก้ หรือสัญลักษณ์ของ ไทรโลไบต์ฟอสซิล (Trilobite Fossil) จริงนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั้นเอ
ภาพโซนจัดแสดงมหายุคพาลัโอโซอิก
สัญลักษณ์ไทรโลไบต์ฟอสซิล (Trilobite Fossil) หลังป้ายพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน
กรมทรัพยากรธรณีเป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ทางวิชาการตั้งแต่ใต้ดินไปจนถึงบนฟ้าอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยถ้าได้มีโอกาสมารับชมพิพิธภัณฑ์ทางด้านธรณีวิทยาทั้ง 7 แห่ง ทุกภูมิภาคของประเทศไทย นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ได้มีแนวคิดการนำธรณีวิทยาเข้าถึงประชาชนโดยจะพยายามเชื่อมโยมมิติทางด้านธรณีวิทยาให้เข้าไปเชื่อมกับภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นเพื่อให้คนไทยได้รู้ว่าที่มาที่ไปของผืนแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นมาได้อย่างไร จึงได้เชื่อมโยงให้เห็นภาพทั้งทางด้านโบราณคดีสมัยก่อน ที่กระบวนการทางธรณีพิบัติภัยหรือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ทำให้ผู้คนต้องเลือกอาศัยธรรมชาติที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน ไม่เว้นแต่การทำวัสดุทางธรณี ดิน หิน แร่ เข้ามาใช้ในการกระบวนการทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ปราสาทโบราณ รูปเคารพ ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีที่มาที่ไปที่เกี่ยวข้องกับทางด้านธรณีวิทยาแทบทั้งสิ้น
และนอกจากโบราณคดีแล้ว ธรณีวิทยายังสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยเชื่อมโยงจากดิน หิน แร่ ในพื้นที่ อย่างที่บ้านนาสาร เป็นแหล่งขึ้นชื่อด้านการปลูกผลไม้ที่มีลักษณะเฉพาะ จนได้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication (GI) ที่ทำให้ผลไม้ที่นี่มีรสชาติหวานหอมและกรอบ อย่างเงาะโรงเรียนบ้านนาสาร โดยกรมทรัพยากรธรณีได้วิเคาะห์ดินแล้วว่า สาเหตุที่ทำให้ดินในพื้นที่ปลูกผลไม้อร่อยเนื่องจาก แร่แถวนี้จะให้ปุ๋ยเคมีตามธาตุอาหารหลักได้แก่ NPK หรือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) เพื่อให้พืชนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้โดยตรงซึ่งได้มาจากแร่ดีบุก แหล่งแร่พวกนี้จะอยู่ในเขตหินแกรนิต เพราะแถวบริเวณนั่นได้ทำเหมือนแร่ดีบุกมาก่อน ซึ่งเกิดมาจากการพัดพาตะกอนลงมาจากฝั่งถูเขา จึงทำให้พื้นที่บริเวณบ้านนาสารปลูกผลไม้มีรสชาติที่ดี
กรมทรัพยากรธรณีได้มีแนวคิดในการเชื่อมการท่องเที่ยวโดยให้ครบในทุกมิติเพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของธรณีวิทยาที่มีบทบาทต้องการดำเนินวิถีชีวิตผู้คนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน” จะได้มีการจัดให้มีการท่องเที่ยวนอกจากจะเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์แล้วยังสามารถไปท่องเที่ยวต่อยังพื้นที่ที่มีการเชื่อมโยงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อย่างเช่นแหล่งโบราณสถานเขาศรีวิชัย ที่มีเรื่องราวความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานของคนสมัยก่อนและการล่มสลายของอาณาจักรศรีวิชัย โดยมีเรื่องราวทางภูมิประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น และนอกจากนั้นยังสามารถไปดูการฟื้นตัวของถ้ำหลังหยุดการทำเหมืองแร่ในถ้ำระยะเวลา 40 ปี ของถ้ำขมิ้น เพื่อเป็นกรณีศึกษาการฟื้นตัวของถ้ำ และไปจบด้วยการไปทานผลไม้อร่อยๆ ที่บ้านนาสาร สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไป ถ้าเราสามารถศึกษาเรียนรู้เชื่อว่าเราจะรู้สึกรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งจะส่งต่อในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรมชาติและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน