รมต.อว.เยี่ยมชมผลสำเร็จโครงการธนาคารปูม้า “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบให้ วช. ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายและมหาวิทยาลัยในพื้นที่
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการธนาคารปูม้า “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ณ ศูนย์เรียนธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 โดยมี ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยนักวิจัยในโครงการ นำเยี่ยมชม พร้อมกันนี้ รมต.อว.ยังได้ตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยชุมชน เครือข่ายวิจัยภูมิภาคภาคใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โครงการธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนการวิจัยและนำเอาผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ 12 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ชุมชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ให้ขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีอยู่ไปสู่ชุมชนอื่นๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และสภาวะชุมชนในทุกจังหวัดชายทะเล
สำหรับศูนย์เรียนธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ “การถ่ายทอดและขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยและต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG Economy ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดย วช. สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม
ศาสตราจารย์ นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานบูรณาการหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธนาคารออมสิน บริษัทประชารัฐสามัคคี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ กระทรวงพาณิชย์ ให้นำเอาองค์ความรู้จากผลการวิจัยและนวัตกรรมมาต่อยอด หรือวิจัยเพิ่มเติม ขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีอยู่ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และสภาวะชุมชน จำนวน 500 แห่ง ใน 20 จังหวัดทั้งในพื้นที่ชายฝั่งด้านอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามัน เพื่อเพิ่มทรัพยากรปูม้า คืนความสมบูรณ์ให้ท้องทะเลไทย รวมทั้งขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตธนาคารปูม้า และกำหนดวิธีการหรือมาตรการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การอนุรักษ์ การฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วช. กรมประมง และหน่วยงานความร่วมมือ ได้มีการขยายผลธนาคารปูม้าไปแล้ว จำนวน 543 แห่ง ครอบคลุมในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง 20 จังหวัด จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรธรรมราช ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และกรมประมง ดำเนินการจัดตั้งธนาคารปูม้าทั้งหมด จำนวน 41 แห่ง ใน 6 อำเภอชายฝั่งทะเล ได้แก่ อำเภอเมือง 6 แห่ง อำเภอขนอม 6 แห่ง อำเภอท่าศาลา 12 แห่ง อำเภอปากพนัง 4 แห่ง อำเภอสิชล 4 แห่ง และอำเภอหัวไทร 9 แห่ง” ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ระบุ
“การดำเนินงานดังกล่าวได้ทำให้เกิดธนาคารปูม้าและศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับปูม้า การผลิตลูกปูม้า และองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดทำธนาคารปูม้า ซึ่งสามารถต่อยอด ขยายผลสู่การสร้างรายได้ของชุมชนตามแนวทาง BCG Economy และการใช้ประโยชน์ปูม้าอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี”