กรมการแพทย์แผนไทยฯ ห่วงช่วงเทศกาลกินเจ ประชาชนนิยมบริโภคอาหารจำพวกแป้ง และอาหารที่มีไขมันสูง แนะนำอย่ามองข้ามสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาล และไขมันในเลือด ดื่มอุ่น ๆ ช่วยสุขภาพดี
นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเกี่ยวกับช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ว่า เทศกาลกินเจได้รับความนิยมจากคนไทยเพิ่มมากขึ้นจากกระแสรักสุขภาพ สำหรับเทศกาลกินเจในปีนี้ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 9 – 17 ตุลาคม 2561 การกินเจถือว่าเป็นอาหารชีวจิตอย่างหนึ่ง ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย เน้นรับประทานผัก ผลไม้ งดการรับประทานเนื้อสัตว์ และผักที่มีกลิ่นฉุน ข้อสังเกตของอาหารเจมักจะเป็นอาหารกลุ่มจำพวกแป้ง และน้ำมัน เป็นหลัก เช่น ผัดหมี่เหลือง ซึ่งจะมีผักไม่มากนัก
หากรับประทานแป้งในปริมาณมาก แป้งจะผ่านกระบวนการย่อยในร่างกายเป็นน้ำตาลและไขมันในเลือดในที่สุด ดังนั้นการรับประทานเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาล และลดไขมันในเลือด หลังจากรับประทานอาหารเจ จะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยป้องกันก่อนป่วย
พืชผักสมุนไพรใกล้ตัวหลากหลายชนิด ที่มีการศึกษาวิจัยว่าช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ดี เช่น กระเทียม กระเจี๊ยบแดง ตรีผลา ดอกคำฝอย ดอกเก็กฮวย และมะนาว สำหรับสมุนไพรที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ได้แก่ ชะพลู ใบหม่อน มะระขี้นก ขมิ้นชัน และใบเตย แต่สำหรับเทศกาลกินเจ ซึ่งไม่นิยมรับประทานอาหารที่มีกลิ่นฉุน กระเจี๊ยบแดง จึงน่าจะเป็นสมุนไพรที่เป็นคำตอบสำหรับเทศกาลนี้ กระเจี๊ยบแดง ประกอบด้วยสารกลุ่มแอนโทรไซยานิน (Anthocyanins) และวิตามินซี ซึ่งจากรายงานการวิจัยระดับพรีคลินิก พบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เหมาะที่จะใช้ป้องกันโรคเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในในเลือดสูง และโรคหัวใจ นอกจากนี้ กระเจี๊ยบแดงยังมีรายงานการศึกษาที่พบว่า การดื่มชาชงจากกระเจี๊ยบแดง เป็นเวลา 2 เดือน จะสามารถลดความดันโลหิตได้ และ หากรับประทานติดต่อกันมากกว่า 4 เดือนจะสามารถลดไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าการรับประทานสารสกัดกระเจี๊ยบแดงขนาด 1,000 มิลลิกรัม/วัน ต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 เดือน สามารถลดคอเลสเตอรอลชนิดเลวได้ กระเจี๊ยบแดง เป็นสมุนไพรที่ปลูกง่าย หาซื้อได้ทั่วไปในราคาไม่แพง สามารถปรุงดื่มได้เองในรูปชาชง หรือเครื่องดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น วิธีทำก็ง่าย ๆ เพียงนำกระเจี๊ยบแดงแห้ง 3 กรัม ต้มกับน้ำสะอาด 300 มิลลิลิตร ตั้งไฟให้เดือด ลดไฟอ่อนลง ต้มให้มีสีแดงเข้ม จากนั้นกรองให้เหลือแต่น้ำกระเจี๊ยบ หรือใช้ชนิดผงสำเร็จรูปชงดื่มครั้งละ 2-3 กรัม โดยชงกับน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
นายแพทย์มรุต กล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตามการบริโภคอาหารเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณเป็นยาจะต้องระมัดระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องรุนแรง และอีกหนึ่งสรรพคุณของกระเจี๊ยบคือมีฤทธิ์ช่วย การระบาย อาจทำให้คนธาตุอ่อนท้องเสียได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ Call Center 02 5917007 ต่อกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยฯ หรือศึกษาข้อมูลในแอพลิเคชั่นสมุนไพรไทย (Thai Herbs )