โรงพยาบาลทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ร่วมมือคณะกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ขับเคลื่อน “โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย” หนุนเกษตรกรใช้เกษตรอินทรีย์ พร้อมรับซื้อผลผลิตวัตถุดิบไร้สารเคมี ปรุงอาหารให้ผู้ป่วย
นายแพทย์มงคล ลัคนาเลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งเป็น “รพ.อาหารปลอดภัย” ส่งเสริมอาหารปลอดสารเคมีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดูแลมาตรฐานความปลอดภัย ในการเลือกวัตถุดิบปรุงอาหารให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลทุ่งช้างร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างผู้แทนกลุ่มปลูกผักและผลไม้ปลอดภัยกับโรงพยาบาล เพื่อเลือกสรรวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงอาหารให้แก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้บริโภคอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ประเด็นของการพัฒนา พชอ.ทุ่งช้าง
โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ โรงพยาบาลทุ่งช้างร่วมมือกับบ้านวังผา และบ้านทุ่งอ้าว ซึ่งมีการรวมกลุ่มเกษตรกรดำเนินการผลิตพืชผัก ผลไม้ ไร้สารเคมี โดยอบรมให้ความรู้กลุ่มเกษตรกรในการลดใช้สารเคมีทางการเกษตรด้วยเกษตรอินทรีย์ และคัดเลือกชุมชนนำร่องและพัฒนาศักยภาพให้เป็นกลุ่มปลูกผักและผลไม้ปลอดภัยจำนวน 2 ชุมชน คือ ชุมชนบ้านวังผา และชุมชนบ้านศาลา รวมทั้งพัฒนาระบบการตลาดเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่อำเภอทุ่งช้างเเละเครือข่ายผู้สนใจ ซึ่งโรงพยาบาลทุ่งช้างจะเป็นหน่วยงานแรกที่รับซื้อวัตถุดิบเพื่อปรุงอาหารให้กับผู้ป่วย
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า การดำเนินงานดังกล่าว ทำให้เกิดการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากสารเคมีทางการเกษตร สนับสนุนให้เครือข่ายมีการดำเนินงานที่เข้มแข็ง สามารถผลิตผักและผลไม้ปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์ บริโภคในครัวเรือน และส่งจำหน่ายในโรงพยาบาล รวมถึงประชาชนได้บริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารเคมี นอกจากนี้ ยังเกิดกลุ่มเครือข่ายอาหารปลอดภัยในอำเภอทุ่งช้าง เกิดชุมชนต้นแบบจัดการสุขภาพ มีจุดจำหน่ายผักผลไม้ปลอดภัย ในชุมชนและกลุ่มที่เกิดขึ้นสามารถผลิตผักผลไม้ปลอดภัยจำหน่ายให้โรงพยาบาลรวมถึงตลาด ร้านค้าและโรงเรียนอีกด้วย
ทั้งนี้ พชอ.ทุ่งช้าง มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน ได้มีประชามติในประเด็นที่ร่วมแก้ปัญหา 7 ประเด็น ได้แก่ 1.ป้องกันและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนน 2.การแก้ไขปัญหาการจำหน่วยและดื่มสุรา 3. การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก/ หญิงมีครรภ์/ ผู้สูงอายุ/ ผู้พิการ/ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และผู้ด้อยโอกาส 4.การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตร โดยใช้เกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย 5.การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า และ โรคติดต่อตามแนวชายแดนอื่นๆ ด้วยแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) 6.การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก และ 7.การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด