กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคเมอร์สในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ แม้ขณะนี้ไทยยังไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคนี้ก็ตาม แนะผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงของโรค หากภายใน 14 วัน มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
วันที่ 5 ตุลาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์โรคเมอร์สในประเทศแถบตะวันออกกลางยังคงมีรายงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศซาอุดิอาระเบีย และจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่าสถานการณ์โรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ณ วันที่ 29 กันยายน 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานตั้งแต่กันยายน 2555 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยสะสม 2,249 ราย เสียชีวิต 798 ราย จาก 27 ประเทศ เป็นผู้ป่วยจากซาอุดิอาระเบีย ร้อยละ 83 (1,871 ราย เสียชีวิต 724 ราย)
ส่วนในประเทศไทย ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีการติดตามสถานการณ์โรคเมอร์สในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เน้นดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคให้เข้มข้นทุกระดับ แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคนี้ก็ตาม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการที่มีผู้เดินทางเข้าออกประเทศ ทั้งจากการเดินทางท่องเที่ยว ประกอบธุรกิจ และไปแสวงบุญ จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและป้องกันโรคอย่างเข้มข้นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยในวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ร่วมหารือแนวทางและมาตรการป้องกันควบคุมโรคดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (สุวรรณภูมิ) ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (ดอนเมือง) สถาบันบำราศนราดูร สำนักโรคติดต่อทั่วไป และสำนักระบาดวิทยา
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันโรคเมอร์สในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างต่อเนื่องทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ 1.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 2.โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน และ 3.ในชุมชน โดยเฉพาะในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในช่องทางเข้า-ออกประเทศ จัดพื้นที่คัดกรองผู้เดินทาง ในกรณีที่พบผู้ที่สงสัยว่าป่วย จะแยกผู้เดินทางและนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนดต่อไป
ส่วนประชาชนที่กลับจากประเทศแถบตะวันออกกลาง หากภายใน 14 วัน มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ประวัติการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สงสัยโรคเมอร์ส หรือเข้าโรงพยาบาลท้องถิ่น หรือมีการเข้าฟาร์มสัตว์หรือสัมผัสสัตว์ป่าต่างๆ หรือดื่มน้ำนมดิบโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะนมอูฐ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ด้านนายแพทย์พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลบางพลี พร้อมร่วมสนับสนุนในการดำเนินงานและพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยสงสัยโรคติดต่ออันตรายในผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อส่งต่อไปตรวจวินิจฉัย ณ โรงพยาบาลบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศไทยไปในวงกว้าง ต่อไป