กรมควบคุมโรค แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิด ระวังป่วยโรคมือ เท้า ปาก เฉพาะช่วงหน้าฝนปีนี้พบผู้ป่วยกว่า 4 หมื่นราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ปกครองในช่วงปลายฝนต้นหนาวและเด็กปิดเทอมอยู่บ้าน ขอให้ดูแลบุตรหลานและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก เฉพาะเดือนมิถุนายน-กันยายน  (ช่วงหน้าฝน) พบผู้ป่วยกว่า 4 หมื่นราย คิดเป็นร้อยละ 74 ของผู้ป่วยทั้งหมด

วันที่ 4 ตุลาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศเริ่มเย็นและในบางพื้นที่ยังมีฝนตก ประกอบกับช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอม เด็กๆ อยู่บ้านกับครอบครัว ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานและสังเกตอาการป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่ยังคงต้องระวังเด็กป่วย เนื่องจากเป็นโรคนี้มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบมากในช่วงหน้าฝน

สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในปีนี้ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–1 ตุลาคม 2561 มีรายงานผู้ป่วย 55,070 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยมากสุดในกลุ่มอายุ 1-3 ปี เฉพาะในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน พบผู้ป่วยรวม 40,694 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ของผู้ป่วยทั้งหมด (เกือบ 3 ใน 4)

อาการของเด็กที่ป่วยจะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าตุ่มแผลในปาก เทีเพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น  ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ผู้ปกครองดูแลและสังเกตอาการของบุตรหลาน เนื่องจากเด็กเล็กอาจบอกอาการเจ็บป่วยของตนเองไม่ได้  วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้ 1.ลดการสัมผัสเชื้อ โดยเชื้อโรคมือ เท้า ปากจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้กระจายสู่ผู้อื่นได้  2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม  3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น  4.หากบุตรหลานป่วย ควรแยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ หากบุตรหลานมีอาการข้างต้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

**************************************************

ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค