กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ หน่วยร่วมสนองงาน และผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ กพด. ขับเคลื่อนงานและเพิ่มสมรรถนะ ความรู้ ความเข้าใจแนวทางการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2560-2569) ตั้งเป้า 10 ปี เด็กไทยมีคุณภาพที่ดี
วันที่ (3 ตุลาคม 2561) นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสานพลังความร่วมมือในการพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ภายใต้โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ปีงบประมาณ 2562 กรมอนามัยตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร ว่า ประเทศไทยโดยรัฐบาลได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนประเทศด้วยกลไกประชารัฐ ซึ่งเป็นการสานพลังความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกันสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพ ให้เด็กและเยาวชนเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง สมดุล และยั่งยืน ส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากที่จบการศึกษา สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว และทำประโยชน์ให้แก่สังคมประเทศชาติ โดยน้อมนำหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนา มุ่งให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสในการศึกษาและพัฒนาเท่าเทียมผู้อื่น เป็นคนมีสุขภาพดี มีคุณธรรมจริยธรรม ภาคภูมิใจในความเป็นไทย สามารถพัฒนาตนเอง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ อันเป็นพระราชประสงค์ตามแนวพระราชดำริ ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ในระยะ 10 ปีข้างหน้านี้ มุ่งให้บรรลุผลตามเป้าหมายสูงสุด กล่าวคือ เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างสมดุล ขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน และพัฒนาสถานศึกษาเป็นศูนย์บริการเรียนรู้ สามารถถ่ายทอดทั้งในและต่างประเทศ และนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ต่อไป
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารแต่ละพื้นที่เป้าหมาย แต่ละสังกัดให้เจริญก้าวหน้า ส่งผลให้สุขภาพของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้รับบริการ ดูแล และส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังพบปัญหาสุขภาพเด็กและเยาวชนอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ สถานการณ์งานพัฒนาอนามัยแม่และเด็ก ในพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่อยู่ห่างไกลคมนาคมเข้าถึงยากมาก ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา“แม่ฟ้าหลวง” การดูแลระยะตั้งครรภ์ การคลอดฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล การติดตามเยี่ยมหลังคลอด พัฒนาการเด็ก ภาวะทุพโภชนาการในเด็กเล็ก เด็กวัยเรียนที่มีภาวะเตี้ย สามเณรอ้วน สุขอนามัยร่างกายแต่งกายไม่สะอาด ไม่แปรงฟัน ฟันผุมาก พฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ถูกต้อง ตลอดจนงานสุขาภิบาลสภาพแวดล้อมของโรงเรียนและชุมชน บริเวณโรงเรียนไม่สะอาดปลอดภัย มีจุดเสี่ยง ภาชนะไม่สะอาด โรงอาหารโรงครัว คุณภาพน้ำดื่มมีการปนเปื้อน เป็นต้น
“การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นเวทีประสานสร้างพลังความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ หน่วยร่วมสนองงาน ภาคีเครือข่าย และผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ กพด.ในการพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ร่วมกันขับเคลื่อนงานและเพิ่มสมรรถนะความรู้ความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทสภาพปัญหา และทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานโครงการ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี มีภาวะโภชนาการดี และสุขภาพแข็งแรงต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด