รมว.แรงงาน คลอด 3 มาตรการดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานในเกาหลีใต้ เน้นย้ำต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดจากรัฐบาลไทย แรงงานที่จะไปทำงานใหม่ต้องมีประสิทธิภาพ มีฝีมือ ได้ภาษา ได้รับการคุ้มครอง เร่งสร้างการรับรู้ป้องกันการถูกหลอกลวง
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System: EPS) ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรทุร ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศจำนวนประมาณ 400,000 คน สามารถส่งเงินกลับประเทศปีละประมาณ 126,000 ล้านบาท ขณะที่มีแรงงานไทยส่วนใหญ่นิยมไปทำงานในเกาหลีใต้เนื่องจากทางการเกาหลีใต้มีความต้องการแรงงานไทยเป็นจำนวนมาก แรงงานมีฝีมือ มีความขยัน มีวินัย ประกอบกับแรงงานได้รับค่าจ้างที่สูงเดือนละประมาณ 40,000 – 60,000 บาท โดยปัจจุบันมีแรงงานไทยอยู่ในเกาหลีใต้ประมาณ 188,202 คนเป็นแรงงานถูกกฎหมาย 66,010 คน เป็นการจัดส่งโดยรัฐ (EPS) จำนวน 24,158 คน แรงงานผิดกฎหมาย โดยอยู่เกินกำหนด และลักลอบทำงานโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยวประมาณ 122,000 คน โดยประเทศไทยได้รับโควตาในการจัดส่งแรงงานปีละ 5,000 คน
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้ 3 มาตรการในการจัดส่งแรงงานไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ แรงงานที่ไปทำงานในเกาหลีทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องจะได้รับการดูแลจากรัฐบาลไทยอย่างดีที่สุด โดยได้มอบหมายให้อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ณ กรุงโซล จัดทำทะเบียนของแรงงาน
ที่ไปทำงานอย่างถูกต้องและลักลอบเข้าทำงานเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการแรงงาน และจัดระบบการประสานงานอำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ โดยทางการเกาหลีใต้เปิดโอกาสให้แรงงานที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายเดินทางกลับประเทศไทยได้โดยสมัครใจตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 – 31 มี.ค. 62 โดยไม่ส่งรายชื่อให้ทางราชการ ทั้งนี้ ทางการเกาหลีจะดำเนินการปราบปรามจับกุมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.61 และจะถูกส่งกลับและห้ามเข้าประเทศเกาหลีใต้เป็นเวลา 10 ปี
รมว.แรงงาน ยังได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานตั้งศูนย์รองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ เพื่อเป็นศูนย์ให้คำปรึกษา แนะแนว จัดสรรตำแหน่งงานว่างรองรับ สำหรับแรงงานที่จะเดินทางไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีจะหารือกับทางการเกาหลีเพื่อเพิ่มโควตาการจัดส่งแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิง โดยก่อนการไปทำงานจะได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ การอบรมภาษาให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง กฎหมาย มีการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม นอกจากนี้ ยังมีมาตรการในการป้องกันการถูกหลอกลวงโดยหารือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อสร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไปทำงานอย่างถูหต้อง มีฐานข้อมูลของบริษัทจัดหางาน มีมาตรการทางกฎหมายและการตรวจตราที่สนามบินอย่างเข้มงวดขึ้นอีกด้วย