องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดประกวดโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ประจำปี 2563 (Young Thai Science Ambassador 2020)
ภายใต้แนวคิด “Change…โลกเปลี่ยนต้องเรียนรู้” เพื่อสร้างนักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาสู่สังคม โดยมีผู้ได้รับรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ นางสาวชนนันท์วัฒนชานนท์ นางสาวทิฆัมพร อินสว่าง นายนครินทร์ โคตรศรี และนางสาวพิมพ์รดา โยชุ่ม ซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางร่วมกิจกรรมด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ณ ประเทศเยอรมนี ต่อไป
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณธ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ อพวช. กล่าวว่า อพวช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ประจำปี 2563 (Young Thai Science Ambassador 2020) อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 เพื่อมุ่งหวังสร้างนักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา และเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนในการก้าวเข้าสู่การเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคมต่อไป
โดยในปีนี้มีการปรับรูปแบบการประกวดและการอบรมให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 200 คน และมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 127 คน และผ่านการอบรมจนเข้าสู่รอบส่งผลงานประกวดการสื่อสารวิทยาศาสตร์ นำเสนอเรื่องราววิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ
ภายใต้แนวคิด “Change…โลกเปลี่ยนต้องเรียนรู้” การมีหรือการไม่มีวิทยาศาสตร์ทำให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และออกแบบการสื่อสารให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวน 38 คน โดยได้ทำการตัดสินผลงานรอบชิงชนะเลิศไปเมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งได้คัดเลือกนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม 4 คน เพื่อเป็นตัวแทนทูตเยาวชนไทยประจำปี 2563 ไปทัศนศึกษา ณ ประเทศเยอรมนี และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดีเด่นอีก 6 คน เพื่อรับทุนสนับสนุนการศึกษาคนละ 5,000 บาท ดังนี้
– รางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม จำนวน 4 รางวัล ได้แก่
1. นางสาวชนนันท์ วัฒนชานนท์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อผลงาน Then & Now – How to cure?
2. นางสาวทิฆัมพร อินสว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชื่อผลงาน ถ้าเดินแล้วไปจับเสี่ยงจะดับชีวิตได้ ต้องโดดและไม่จับ ถึงจะกลับมาปลอดภัย
3. นายนครินทร์ โคตรศรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชื่อผลงาน บังสุกุลรีไซเคิล “Requiem Recycle”
4. นางสาวพิมพ์รดา โยชุ่ม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อผลงาน กระปุกเสี่ยงโชคที่อัดแน่นไปด้วยกรดอะมิโน
– รางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดีเด่น จำนวน 6 รางวัล ได้แก่
1. นางสาวชาลิสา แสวงลาภ มหาวิทยาลัยมหิดล ชื่อผลงาน The Miracle of New Normal Special Item
2. นางสาวณัฎฐณิชา บุญเลิศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชื่อผลงาน ผึ้ง…ศัตรูหรือผู้พิทักษ์มวลมนุษย์
3. นายณัฐรัชต์ ดลเฉลิมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่อผลงาน AR THE PART OF MIXED WORLD
4. นายพงศธร สุกใส มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ชื่อผลงาน โลก…ที่เปื้อนฝุ่น
5. นางสาววนิดา สุวรรณสิทธิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อผลงาน How science can help you to learn new languages?
6. นายอัครพันธ์ ทวีศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชื่อผลงาน ไขปริศนา Maglev รถไฟความเร็วสูง
ผศ.ดร.รวิน ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอแสดงความยินดีและขอชื่นชมเยาวชนทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ สำหรับโครงการนี้หวังว่าจะช่วยสร้างเครือข่ายเยาวชนนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา ให้มีส่วนร่วมในการช่วยเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สู่สังคม เป็นนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ของประเทศได้อย่างมีคุณภาพต่อไปในอนาคต”
………………………………………………………