หากเราพูดถึงเรื่องดาวเทียมแล้ว แน่นอน..ประเทศไทยของเรามีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศตลอดในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มต้นจากการที่เป็นเพียงผู้ใช้งานหรือควบคุมดูแลดาวเทียมในอวกาศ หลังจากนั้นประเทศไทยก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เราเริ่มในการขยับขีดความสามารถของประเทศให้มาเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศด้วยตนเอง ตั้งแต่การพัฒนาดาวเทียมไทยพัฒ การพัฒนาซอฟต์แวร์และอุปกรณ์สำหรับการควบคุมและปฏิบัติการดาวเทียมภาคพื้น เช่น ระบบจานรับ-ส่งข้อมูลคำสั่งดาวเทียม ซอฟต์แวร์ควบคุมดาวเทียม ซอฟต์แวร์วิเคราะห์วงโคจร หรือซอฟต์แวร์วางแผนถ่ายภาพ
ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน นักวิจัยชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจรของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยกำลังพัฒนาตัวดาวเทียมที่จะต้องทำงานในอวกาศ เช่น การสร้างดาวเทียมขนาด CubeSat ที่พัฒนาขึ้นจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน นอกจากนี้เรายังมีวิศวกรที่ไปร่วมสร้างร่วมพัฒนาตัวดาวเทียมขนาดเล็กภายใต้โครงการ THEOS2 ซึ่งจะมีการนำดาวเทียมกลับมา ประกอบและทดสอบขึ้นภายในประเทศ ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกด้วย นับได้ว่าขีดความสามารถของประเทศกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผู้ใช้งานมาเป็นผู้พัฒนาสถานีรับ-ส่ง ปฏิบัติงานภาคพื้น จนเริ่มจะสร้างดาวเทียมขนาดต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนและหลากหลายต่างกันไปขึ้นภายในประเทศอีกด้วย
ดร.สิทธิพร เล่าต่อว่า ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่าน GISTDA มีนโยบายชัดเจนในส่วนการพัฒนาดาวเทียม คือการมุ่งเน้นการพัฒนาตัวระบบดาวเทียม (satellite bus) เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญของการพัฒนาดาวเทียมคือ Onboard flight software เปรียบเสมือนเป็นสมองของดาวเทียม ถ้าจะกล่าวให้เห็นภาพได้ชัดเจน คือการออกแบบ software การเชื่อมต่อการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับดาวเทียมขนาดเล็ก เพื่อให้สนองตอบต่อภารกิจในอวกาศตามความต้องการของประเทศไทย ซึ่งจิสด้ามีเป้าหมายการพัฒนาต้นแบบ Onboard Flight Software สำหรับควบคุมดาวเทียมขนาดเล็ก เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาดาวเทียมในประเทศไทย โดย Astrodynamics Research Laboratory และมี ดร.สุวัตน์ ศรีเศวต เป็นหัวหน้าโครงการการพัฒนา Onboard flight software ในครั้งนี้
การสร้างองค์ความรู้ ตระหนักถึงเทคโนโลยีอวกาศ และความเชื่อมั่นว่าบุคลากรไทยสามารถพัฒนา Onboard flight software เองได้ ทำให้ในปีนี้ทาง AstroLab ได้มอบหมายให้นักศึกษาฝึกงานร่วมในการพัฒนาบางส่วนของ Onboard Flight software โดยนักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ การทำงานของระบบ Onboard Flight Software วิธีการในการพัฒนา Onboard Flight Software และเครื่องมือในการ Onboard Flight Software ที่สำคัญ คือ Satellite Simulator หรือระบบจำลองการทำงานของดาวเทียม ทั้งนี้การพัฒนา Onboard Flight Software เป็นการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านองค์ความรู้พื้นฐานเพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถของเทคโนโลยีฐานทั้ง 4 ด้าน ทัดเทียมประเทศที่ก้าวหน้าในเอเชียโดยสนับสนุนใน 5 ด้าน ดังนี้
1.การผลิตและพัฒนาบุคลากรและหลักสูตรวิจัยขั้นแนวหน้า
2.การสร้างงานวิจัยค้นพบใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมต้นแบบ
3.การดึงดูดนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญชั้นเลิศเข้ามาทำงานในประเทศไทย
4.ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบัน ศูนย์วิจัย เพื่อพัฒนางานวิจัยร่วมกัน
5.การแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้งานร่วมกัน
นอกจากนี้ การเข้ามาร่วมพัฒนาและแสดงขีดความสามารถของนักศึกษาไทยทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ จะเป็นการจุดประกายไฟเล็ก ๆ ที่อาจจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือนวัตกรรมจากอวกาศที่ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความเป็นเลิศในด้านนี้ ดวงไฟประกายเล็ก ๆนี้อาจจะเป็นพลังงานแฝงที่ซ่อนอยู่รวมตัวกลายเป็นไฟใหญ่ในอนาคตได้ GISTDA จะยังคงร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อออกแบบโจทย์ทางด้านวิศวกรรมขั้นสูง ส่งต่อเป็นโจทย์ และเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาให้เพิ่มขีดความสามารถพัฒนาตัวเอง เช่น การออกแบบฐานข้อมูลของดาวเทียม การเชื่อมต่อของการสื่อสารที่ต้องใช้มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ การออกแบบซอฟต์แวร์ควบคุมให้กับระบบที่ต้องมีความน่าเชื่อถือสูง..!! ได้ต่อไปในอนาคต ดร.สิทธิพร กล่าว
…………………………………………………………………….