กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 67 จังหวัด ทุกภาคทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รับมือภาวะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2561 เนื่องจากความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรง ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2561 ปภ. จึงได้ประสาน 67 จังหวัด ทุกภาคทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 25 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชนเพื่อป้องกันการล้มทับ ทั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป