ป.ป.ช.เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้านทุจริต ยุทธศาสตร์ที่ 2 “ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต” ส่งต่อหน่วยงานภาครัฐแปลงแนวทางและมาตรการตามยุทธศาสตร์ชาติฯสู่การปฏิบัติ ลั่นภายในสิ้นปี 62 7,852 อปท.ทั่วประเทศมีแผนต้านทุจริตครบ 100% พร้อมเปิดช่องให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ เชื่อเดินตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติฯ สร้างประเทศไทยใสสะอาด
พลเอก บุญยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คณะกรรมการป.ป.ช. ได้เห็นความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับท้องถิ่น และคาดหวังว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในการแสดงเจตจำนงการต่อต้านการทุจริต อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินโครงการส่งเสริมท้องถิ่นปลอดทุจริต เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้จัดทำ “แผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต” ตามกรอบแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) เพื่อให้ อปท.ได้ดำเนินโครงการ กิจกรรม และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบการป้องกันการทุจริต การป้องกันพฤติกรรมที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การสร้างกลไกในการตรวจสอบการบริหารงาน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะช่วยให้ปัญหาการทุจริตลดลง การบริหารจัดการท้องถิ่นมีความโปร่งใส และสาธารณชนสามารถตรวจสอบการดำเนินงานตามเจตจำนงที่แสดงไว้
โดยแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต มิติที่ 2 การบริหารราชการเพื่อป้องกันการทุจริต มิติที่ 3 การส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และมิติที่ 4 การเสริมสร้างและปรับปรุงกลไกในการตรวจสอบการปฏิบัติราชการ อันเป็นนวัตกรรมในการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ที่สร้างกลไกในการป้องกันการทุจริตภายในอปท. ผลปรากฏว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้แสดงเจตจำนงจัดทำ “แผนปฏิบัติการป้องกันการการทุจริต” เข้ามาทั้งหมด 7,598 แห่งจาก อปท.ทั้งหมด 7,852 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 97 ของความตื่นตัวในการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
สำหรับแนวทางในการผลักดันยุทธศาสตร์ที่ 2 “ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต” นั้น ป.ป.ช.มุ่งเน้นให้อปท.ทำสัญญาประชาคมด้วยการจัดทำแผนดังกล่าวให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติฯ และติดตามประเมินผลการนำแผนฯไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพื่อให้ อปท.ทั่วประเทศตื่นตัว สามารถดำเนินงานตามแผนฯที่แสดงเจตจำนงไว้อย่างเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยจะมีการติดตามประเมินผลในการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชม แนะนำ รับฟังปัญหาอุปสรรคจาก อปท. ตลอดจนเปิดช่องทางให้ภาคประชาชนมีส่วนในการติดตามการดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์รูปแบบ แอปพลิเคชัน e-PlanNACC อีกด้วย
“การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 นี้ ป.ป.ช. มุ่งให้ อปท.ทั่วประเทศนำแผนที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ ไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม เป็นสังคมมิติใหม่ที่ประชาชนไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตทุกรูปแบบ ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาคการเมือง หน่วยงานรัฐ ตลอดจนประชาชน มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยได้รับการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI ( Corruption PreceptionIndex) ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ในปี 2564 จำนวน อปท.ที่ยังไม่ได้ทำแผนฯเข้ามาคิดเป็นประมาณ 3 % ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ส่งเข้ามาแล้วโดยปัญหาอุปสรรคส่วนใหญ่ที่ อปท.เหล่านี้ยังไม่สามารถจัดทำแผนฯส่งเข้ามา เป็นเรื่อง ระยะทางความห่างไกล หรือผู้บริหารท้องถิ่นไม่ให้ความสำคัญ หรือความพร้อมของบุคลากร ซึ่ง ป.ป.ช.จะได้เร่งให้คำปรึกษาและคำแนะนำ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมาย ส่วน อปท.ที่ได้ส่งแผนมาแล้ว จะมีการติดตามตามกระบวนการที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐานการสร้างค่านิยมการไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ” พลเอก บุญยวัจน์ กล่าว
ส่วนช่องทางการติดตามประเมินผลนั้น สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด จะลงพื้นที่เพื่อนิเทศ ติดตามเยี่ยมชม ให้คำปรึกษาแนะนำ และส่งเสริมให้ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถนำแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริตไปสู่การปฏิบัติ สอบทานความถูกต้องและมาตรฐานของแผน เพื่อทราบอุปสรรค ปัญหาและข้อเสนอแนะ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถติดตามการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวว่ามีความคืบหน้า มีความเป็นรูปธรรมแค่ไหนอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของหน่วยงานภาครัฐมีความรัดกุมรอบคอบ และระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ท้องถิ่น ผ่านระบบ e-PlanNACC ในเว็บไซต์สำนักงานป.ป.ช. โดยภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวคาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้อปท.ที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฯ ร่วมแสดงเจตจำนงได้ครบ 100% ภายในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งส่งผลให้ระบบการบริหารราชการเกิดประสิทธิภาพคุ้มค่ากับงบประมาณ มีความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ลดความเสี่ยงต่อการทุจริต สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาแก่ประชาชนรวมถึงจะส่งผลต่อระดับคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) และส่งผลต่อภาพรวมสู่การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)ของประเทศไทยสูงขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเจริญก้าวหน้าและสันติสุขตามเป้าหมายยุทธศาสตร์” ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต Zero Tolerance & Clean Thailand)” ในที่สุด