นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานความร่วมมือสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ซึ่งหลายพื้นที่เกษตรกรเข้มแข็ง เกิดผลสำเร็จ เช่น แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ต.คลองน้อย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีการบริหารจัดการแปลงโดยใช้ระบบควบคุมภายใน (Internal Control System : ICS) มาปรับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน โดยเน้นให้จัดทำข้อตกลงภายในกลุ่ม แบ่งการบริหารงานเป็นฝ่ายต่าง ๆ เช่น การควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตร การผสมปุ๋ยใช้เอง การดำเนินการทางวิชาการ การควบคุมคุณภาพผลผลิต และมีการเชื่อมโยงการตลาดกับลานเททะลายปาล์มในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงกับ ศพก. ต.คลองน้อย
ด้านนายสุมาตร อินทรมณี ประธานแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ต.คลองน้อย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การผลิตปาล์มน้ำมันภาคใต้ ปี 2560 ว่า ภาคใต้มีเนื้อที่ให้ผลปาล์มน้ำมันสูงถึง 4.20 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 3,050 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดของประเทศ มีพื้นที่ให้ผล 1.09 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 3,116 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ซึ่งปาล์มน้ำมัน ต.คลองน้อย ได้เข้าเป็นสมาชิกในรูปแบบแปลงใหญ่เมื่อ ปี 2560 มีสมาชิกเกษตรกร 68 ราย บนพื้นที่รวม 771 ไร่ สามารถสร้างผลผลิตสูงถึง 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม ก่อนเข้าเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ถึงสองเท่า และสามารถทำราคาเพิ่มขึ้นได้ถึง 20-30 สตางค์ต่อกิโลกรัม ด้วยการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมี อัตราการสกัดน้ำมันปาล์มดิบถึง 18% เป็นไปตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ปี 2560 – 2579 ของรัฐบาล ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะสามารถเพิ่มอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มดิบจากเดิมอีก 2% เป็น 20% ได้ในที่สุด
ส่วนอีกแปลงที่ประสบความสำเร็จด้านการบริหารจัดการในรูปแบบแปลงใหญ่ ที่ได้มาตรฐาน มาตรฐาน GAP, BAP, GMP และ HACCP คือ สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ต.ท่าทอง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนายนายโกศล หนูกลิ่น เป็นประธานแปลงใหญ่ มีสมาชิกเกษตรกร 53 ราย บนพื้นที่รวม 1,495 ไร่ มีการใช้ระบบน้ำหมุนเวียน มีบ่อพักน้ำ ใช้จุลินทรีย์ในการบำบัดบ่อกุ้ง เลี้ยงแบบผสมผสานกุ้งและปลานิล เพื่อช่วยบำบัดของเสียในบ่อน้ำ รวมถึงการให้อาหารด้วยระบบ Auto Feed ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ถึง 20-30% โดยแบ่งสัดส่วนการตลาดเป็นห้องเย็นต่างประเทศ 90% อาทิ จีน มาเลเซีย และในประเทศ 10% อาทิ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
จากการสำรวจผลลัพธ์การดำเนินงานของโครงการเกษตรแปลงใหญ่ พบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจ เนื่องจากสามารถจัดการการผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้น มีประสิทธิภาพในการรวมกลุ่มเพื่อผลิตและการตลาด กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง รวมทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตได้จริง โดยในปีนี้ (พ.ศ. 2561) ได้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนแปลงใหญ่อีก 1,838 แปลง ข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นแล้ว 1,636 แปลง พื้นที่รวมกว่า 1.85 ล้านไร่ รวมจำนวนเกษตรกรรายใหม่ 74,483 ราย จึงมั่นใจว่าการดำเนินงานในปีนี้ จะมีแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ นับได้ว่านโยบายเกษตรแปลงใหญ่ถือว่าช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยเข้ามาแก้ปัญหาผลผลิตไม่มีคุณภาพ ต้นทุนสูง และราคาตกต่ำอย่างเห็นผล ซึ่งจะได้เห็นกรมส่งเสริมการเกษตรมีรูปแบบการสนับสนุนที่หลากหลายยิ่งขึ้นต่อจากนี้ นายสำราญ กล่าวในที่สุด